15 พฤศจิกายน 2022

สวช. ผนึกกำลังร่วมกับ สกสว. และหน่วยงานเครือข่ายด้านวัคซีน สนับสนุนการดำเนินงานของ อภ.

     เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา สถาบันวัคซีนแห่งชาติ (สวช.) ในฐานะหน่วยบริหารจัดการทุนและนวัตกรรม (PMU: Program Management Unit) ได้นำคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ ประกอบด้วย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กองยุทธศาสตร์และแผนงาน สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ติดตามความก้าวหน้าการวิจัยและพัฒนาการผลิตวัคซีน และเยี่ยมชม โรงงานผลิต(วัคซีน)ชีววัตถุ องค์การเภสัชกรรม ต.ทับกวาง อ.แก่งคอย จ.สระบุรี โดยมีนายรังษี ปัดลี รองผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม พร้อมคณะให้การต้อนรับ

     นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวว่า การเยี่ยมชมและติดตามความก้าวหน้าครั้งนี้ เพื่อรับฟังความก้าวหน้าและปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงานโครงการวิจัยพัฒนาและผลิตวัคซีนที่องค์การเภสัชกรรมได้รับจัดสรรงบประมาณที่ผ่านมา พร้อมทั้งให้ข้อเสนอแนะเพื่อการพัฒนาแก่ผู้ปฏิบัติงาน

     ด้านดร.ภญ.พรทิพย์ วิรัชวงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายชีววัตถุ รักษาการผู้จัดการโรงงานผลิต(วัคซีน)ชีววัตถุ กล่าวว่าโรงงานแห่งนี้เป็นโรงงานผลิตวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ด้วยเทคโนโลยีไข่ไก่ฟัก ซึ่งก่อตั้งขึ้นตามเจตจำนงของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อสร้างความมั่นคงด้านวัคซีนในยามสถานการณ์ฉุกเฉิน และผลิตวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลเพื่อให้บริการแก่ประชาชนตามแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของประเทศไทย โดยเป็นโรงงานที่ได้รับการรับรองมาตรฐานจากองค์การอนามัยโลก (WHO) แล้ว ทั้งนี้ อภ. มีโครงการที่ได้รับจัดสรรงบประมาณจากสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ผ่านกองทุนกองทุน ววน. จำนวน 3 โครงการ ประกอบด้วย
1) โครงการวิจัยและพัฒนาการผลิตวัคซีนเอชเอ็กซ์พี-จีพีโอแวค (HXP-GPOVac) โดย ดร.ภญ.สมชัยยา สุริฉันท์ ได้นำเสนอความก้าวหน้า ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาวิจัยในมนุษย์ในระยะที่ 2 และคาดว่าจะเริ่มการศึกษาวิจัยในมนุษย์ระยะที่ 3 ในรูปแบบวัคซีนเข็มกระตุ้น ในเดือนธันวาคม 2565 ข้อมูลที่ได้จะนำไปขออนุมัติทะเบียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
2) โครงการพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ชนิดเชื้อตาย 4 สายพันธุ์ (TetraFluvac TF) ชนิดพร้อมฉีด (Pre-filled syringe) ดร.ภญ.สุทธิดา พุกสุริย์วงศ์ ได้นำเสนอความก้าวหน้าว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมในการผลิตวัคซีน และการขออนุมัติศึกษาวิจัยในมนุษย์ในระยะที่ 1/2 คาดว่าจะสามารถเริ่มดำเนินการได้ภายในปี 2566 และ 3) โครงการพัฒนาการผลิตวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ H7N9 ชนิดเชื้อตาย ดร.ภญ. ปาริฉัตร ดวงแข รายงานว่า ขณะนี้สามารถผลิตวัคซีนเข้มข้นที่ผ่านการทดสอบการกระตุ้นภูมิคุ้มกันในสัตว์แล้ว ขั้นต่อไปจะดำเนินการทดสอบระดับพรีคลินิค แต่อย่างไรก็ตามการผลิตวัคซีนดังกล่าวจำเป็นต้องใช้สถานที่ GMP ซึ่งยังเป็นข้อจำกัดของประเทศไทยที่รัฐบาลควรให้การสนับสนุนและเห็นความสำคัญ

     ในการนี้ช่วงบ่าย คณะผู้บริหารและเจ้าหน้าได้เข้าเยี่ยมชมในพื้นที่โรงงานผลิต(วัคซีน) ชีววัตถุ ซึ่งเป็นโรงงานตามมาตรฐานองค์การอนามัยโลก (WHO) จำนวน 3 อาคาร ที่สำคัญ ดังนี้ 1) อาคารไข่ไก่ฟัก 2) อาคารแบ่งบรรจุ และ 3) อาคารสนับสนุนการผลิต โดยภาพรวม ทั้ง 3 อาคารมีความพร้อมในการผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ และวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 รวมถึงมีเจ้าหน้าที่มีความเชี่ยวชาญที่พร้อมปฏิบัติงานอีกด้วย การเยี่ยมชมเป็นการทำให้เกิดความเข้าใจมากขึ้นเพราะได้เห็นจากสถานที่จริง และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้

     รองศาสตราจารย์ ดร. ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อํานวยการ สกสว. กล่าวในช่วงท้ายว่า “การเยี่ยมชมโรงงานครั้งนี้นับเป็นก้าวสำคัญของการสร้างการทำงานร่วมกัน ทำให้หน่วยจัดสรรงบประมาณ หน่วยบริหารจัดการทุน หน่วยงานด้านนโยบาย และหน่วยงานประกันคุณภาพวัคซีน มีความเข้าใจในกระบวนการวิจัยและพัฒนาการผลิตวัคซีนของ อภ. มากยิ่งขึ้น ซึ่งการดำเนินงานดังกล่าวมีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับการพึ่งพาตนเองและสร้างความมั่นคงด้านวัคซีนให้กับประเทศที่ต้องการการสนับสนุนทั้งด้านงบประมาณและด้านวิชาการจากทุกภาคส่วนเพื่อให้ประเทศไทยมีศักยภาพและสามารถคงศักยภาพนั้นไว้สำหรับการผลิตวัคซีนเพื่อตอบโต้สถานการณ์การระบาดของโรคอุบัติใหม่ในอนาคต”

  

ที่มา: สถาบันวัคซีนแห่งชาติ
ขอบคุณภาพ: GPO
วันที่: 15 พ.ย. 65