Home > ข่าวสาร > ข่าวสารเครือข่าย > คกก.โรคติดต่อแห่งชาติ เห็นชอบร่างมาตรการผ่อนปรนคนต่างชาติเข้าประเทศไทย
👁️ เข้าชม 1
คกก.โรคติดต่อแห่งชาติ เห็นชอบร่างมาตรการผ่อนปรนคนต่างชาติเข้าประเทศไทย
คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เห็นชอบร่าง “ระบบการเฝ้าระวังป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จากผู้เดินทางที่จะเข้าไทย โดยเริ่มจับคู่เจรจาประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำ เพื่อสร้างความมั่นใจในความปลอดภัยแก่ประชาชน และส่งเสริมการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ เตรียมเสนอ ศบค.
วันนี้ (24 มิถุนายน2563) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 7/2563 โดยในวันนี้
ที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาและเห็นชอบ ร่าง “ระบบการเฝ้าระวังป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) จากผู้เดินทางที่จะเข้ามาในราชอาณาจักร ภายใต้พระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558”
นายอนุทินกล่าวว่า ประเทศไทยได้รับความเชื่อมั่นจากนานาประเทศในความสำเร็จของการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทูตานุทูตหลายประเทศเข้ามาหารือเรื่องมาตรการผ่อนปรนการเดินทางระหว่างประเทศและขับเคลื่อนด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยมาตรการที่คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติเสนอ จะใช้วิธีการจับคู่เจรจาและทำข้อตกลงระหว่างประเทศคู่เจรจา ทั้งนี้ จะเริ่มจับคู่กับประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำก่อน และจะมีการประเมินสถานการณ์เป็นระยะ เพื่อปรับกลุ่มประเทศและมาตรการได้ตลอด
สำหรับกลุ่มคนที่เดินทางเข้ามาจากต่างประเทศ จำแนกเป็น3กลุ่ม กลุ่มแรกเป็นบุคคลที่นายกรัฐมนตรีอนุญาต เช่น คณะทูต คณะกงศุล องค์กรระหว่างประเทศหรือผู้แทนรัฐบาล ผู้ขนส่งสินค้าตามความจำเป็น กลุ่มที่สอง คนไทยกลับบ้านที่ต้องเข้าสู่ระบบกักกันซึ่งดำเนินการอยู่แล้ว กลุ่มที่สาม คนต่างชาติ จะพิจารณาจากวัตถุประสงค์การเข้ามา ความจำเป็นด้านเศรษฐกิจและสังคม ระยะเวลาในการอยู่ในประเทศ โดยมีการเตรียมความพร้อมด้านการแพทย์และสาธารณสุขรองรับ
ส่วนในกลุ่มชาวต่างชาติ จะแบ่งเป็น 3 ระยะของการผ่อนปรน ดังนี้ ระยะที่ 1 คือ กลุ่มที่เข้ามาระยะสั้น อาทิ อาคันตุกะของรัฐบาล กลุ่มนักธุรกิจ/นักลงทุนที่ได้รับอนุญาตจากรัฐ กลุ่มที่เข้ามาอยู่ระยะยาว อาทิ กลุ่มแรงงานฝีมือ/ผู้เชี่ยวชาญ คนต่างชาติที่เป็นครอบครัวคนไทย ผู้มีเหตุจำเป็น เช่น ครู/นักเรียนจากต่างประเทศตามความจำเป็นด้านเศรษฐกิจและสังคม ระยะที่ 2 คือ กลุ่มที่มีผลต่อเศรษฐกิจและเข้ามาอยู่ในสถานที่เฉพาะคือโรงพยาบาล คือผู้ป่วยที่เข้ามารับบริการด้านสุขภาพ และระยะที่ 3 คือ กลุ่มที่มีการเดินทางไปยังสถานที่ต่าง ๆ มีผลต่อเศรษฐกิจและการผลิต คือกลุ่มนักท่องเที่ยว และแรงงาน ซึ่งจะเริ่มดำเนินการเมื่อพร้อมและสังคมมีความเชื่อมั่น ทั้งนี้ จะได้นำเสนอต่อศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดโรคติดเชื้อโคโรนาไวรัส 2019 ต่อไป
ทั้งนี้ ได้มีการกำหนดมาตรการในการดำเนินการ ตั้งแต่การเตรียมตัวก่อนเดินทางเข้าประเทศ อาทิ
การลงทะเบียนและมีใบรับรองจากสถานทูตไทย การทำประกันภัยที่ครอบคลุมการตรวจ/รักษาโควิด19 ใบรับรองการบิน ระหว่างอยู่ในประเทศ อาทิ การคัดกรอง การตรวจหาเชื้อ การแยกกัก กักกัน และคุมไว้สังเกตตามระยะเวลาที่อยู่ในประเทศไทย โดยทีมติดตามด้านการแพทย์และสาธารณสุข และก่อนเดินทางกลับ อาทิ
การรายงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ การตรวจหาเชื้อก่อนกลับ ทั้งนี้ เพื่อสร้างความมั่นใจในการดูแลความปลอดภัยแก่ประชาชน และเพื่อส่งเสริมการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้เห็นชอบแผน การเฝ้าระวังประชากรกลุ่มเสี่ยงที่จะดำเนินการต่อเนื่อง ได้แก่
ผู้ให้บริการทางการแพทย์ที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ ผู้ต้องขังแรกรับ ผู้ต้องกักแรกรับ และอาชีพเสี่ยง เช่น พนักงาน
ในโรงงานผลิตอาหาร พ่อค้าแม่ค้า บุคลากรที่ทำงานกับผู้สูงอายุ พนักงานนวด พนักงานสถานบันเทิง โดยระหว่างวันที่ 18 พฤษภาคม – 22 มิถุนายน 2563 ได้ดำเนินการตรวจเฝ้าระวังในกลุ่มเสี่ยงทั่วประเทศ 89,620 ราย
ตรวจพบเชื้อ 1 รายเป็นผู้ป่วยเก่า รอผลตรวจ 8,257 ราย
****************************** 24 มิถุนายน 2563