28 กันยายน 2020

สถาบันวัคซีนแห่งชาติ มั่นใจ “หลักสูตรสร้างทักษะการสื่อสารของเจ้าหน้าที่สาธารณสุข” ช่วย เด็กเล็กในสามจังหวัดชายแดนใต้ได้รับ “วัคซีน” มากขึ้น

📌สถาบันวัคซีนแห่งชาติ มั่นใจ “หลักสูตรสร้างทักษะการสื่อสารของเจ้าหน้าที่สาธารณสุข” ช่วย เด็กเล็กในสามจังหวัดชายแดนใต้ได้รับ “วัคซีน” มากขึ้น
.
อัตราการป่วยและเสียชีวิตจากโรคที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีนของเด็กในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ อยู่ในภาวะวิกฤตมายาวนานหลายสิบปี สาเหตุสำคัญคือ ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนจนนำไปสู่การไม่ยอมรับหรือบ่ายเบี่ยงวัคซีน
.
สถาบันฯ ร่วมกับหน่วยงานเครือข่ายด้านวัคซีน กำหนด 3 กลยุทธ์สำคัญที่นำมาใช้เป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหา คือ 1. การพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่ด้านการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค 2. การพัฒนาการสื่อสารและการประชาสัมพันธ์ และ 3. การสร้างเครือข่ายด้านวัคซีน
.
จากกลยุทธ์ดังกล่าว ยูนิเซฟ ประเทศไทย ร่วมกับ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้พัฒนา “หลักสูตรสร้างทักษะการสื่อสารของเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เพื่อการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันในเด็กเล็กในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้” ซึ่งถือเป็นเครื่องมือชิ้นใหม่สำหรับการทำงานในพื้นที่พิเศษ และจากการทดลองใช้หลักสูตรในพื้นที่นำร่องพบว่า เจ้าหน้าที่ที่เข้าร่วมอบรมมีความมั่นใจในการทำงานมากขึ้น มีเทคนิคในการสื่อสารกับผู้ปกครองให้เข้าใจและยอมรับวัคซีน ส่งผลให้อัตราการครอบคลุมของการรับวัคซีนในพื้นที่รับผิดชอบเพิ่มขึ้นด้วย
.
“เวทีคืนข้อมูลงานวิจัยในเด็ก ในรอบปี 2562-2563” วันที่ 25 กันยายน ที่ผ่านมา มอ.ปัตตานี ได้นำเสนอความสำเร็จของหลักสูตรดังกล่าว โดยสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ได้ร่วมเสวนาในหัวข้อแนวทางการพัฒนานโยบายสาธารณะในด้านเด็ก ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีเป้าหมายร่วมกันในการขจัดปัญหาด้านสุขภาพของเด็ก ที่เป็นอุปสรรคสำคัญในการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน

เรื่องโดย: ทนพญ.ผาณิตา โกมลมาลย์
สถานที่: คณะพยาบาลศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี
วันที่: 28/09/63