Home > ข่าวสาร > บทความและจดหมายข่าว > ทีมนักวิจัยวัคซีนไทยเผยผลการวิจัยมีความก้าวหน้า คาดมีวัคซีนอย่างน้อย 3 ชนิดเข้าสู่การทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 1 ได้ต้นปี 64
👁️ เข้าชม 0
📌ทีมนักวิจัยวัคซีนไทยเผยผลการวิจัยมีความก้าวหน้า คาดมีวัคซีนอย่างน้อย 3 ชนิดเข้าสู่การทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 1 ได้ต้นปี 64
.
วันที่ 16 ตุลาคม 2563 สถาบันวัคซีนแห่งชาติจัดการประชุมเพื่อติดตามความก้าวหน้าและประเมินผลโครงการวิจัยและพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 (COVID-19) ตามโครงการร่วมระหว่างสถาบันวัคซีนแห่งชาติ และสำนักงานการวิจัยแห่งชาติณ ห้องประชุม Topaz room โรงแรมแกรนด์ริชมอนด์ จ.นนทบุรี
.
ในที่ประชุมได้มีการนำเสนอผลการวิจัยและแผนการผลิตวัคซีนโควิด-19 ของประเทศไทยจากทั้ง 7เทคโนโลยีการผลิต ได้แก่ mRNA, DNA, Viral-like particle (VLP), Protein Subunit, Viral vector, Inactivatedและ Live attenuated จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วยหน่วยงานทั้ง ภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ เอกชน และมหาวิทยาลัย ทั้งหมด 9 หน่วยงาน โดยพบว่ามีวัคซีนที่มีความก้าวหน้ามากที่สุดอยู่ระหว่างการเตรียมเข้าสู่การทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 1 ซึ่งคาดว่าจะสามารถเริ่มดำเนินการได้ช่วงต้นปี 2564
.
ความก้าวหน้าการวิจัยพัฒนาวัคซีนต้นแบบของประเทศไทย ปัจจุบันสามารถแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มตามระดับความก้าวหน้า ได้แก่1) อยู่ในระหว่างการวิจัยพัฒนาในห้องปฏิบัติการ 2) อยู่ระหว่างการทดสอบในสัตว์ทดลองชนิดต่างๆ และ 3) เตรียมเข้าสู่การทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 1
.
กลุ่มที่มีความก้าวหน้ามากที่สุดซึ่งอยู่ระหว่างเตรียมเข้าสู่การทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 1 ได้แก่ วัคซีนชนิด mRNA ซึ่งพัฒนาโดยศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางการวิจัยและพัฒนาวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, วัคซีนชนิด DNAโดย บริษัท ไบโอเนท-เอเซีย จำกัด และวัคซีนที่ใช้เทคโนโลยีการสกัดโปรตีนจากพืช(Plant based) โดยคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และบริษัท ใบยาไฟโตฟาร์ม จำกัด โดยผู้วิจัย
ได้เข้าหารือกับหน่วยงานด้านควบคุมกำกับคุณภาพวัคซีนของประเทศอย่างต่อเนื่องเพื่อให้การพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ดำเนินอยู่บนกฎเกณฑ์ที่เป็นไปตามมาตรฐานสากล และอยู่ระหว่างการแสวงหาความร่วมมือหรือพัฒนาศักยภาพในด้านการขยายขนาดการผลิต (Scale up pilot plant) เพื่อทำการผลิตวัคซีนต้นแบบสำหรับทดสอบในมนุษย์ตามแผนที่วางไว้คือ ในไตรมาสแรกของปี 2564
.
ขณะที่ กลุ่มที่อยู่ระหว่างการทดสอบในสัตว์ทดลองชนิดต่างๆ ซึ่งมีความก้าวหน้ารองลงมา ได้แก่ วัคซีนชนิดLive attenuated, VLP และAdenoviral vector ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการทดสอบวัคซีนต้นแบบโดยการกระตุ้นภูมิคุ้มกันในสัตว์ทดลอง
และกลุ่มที่อยู่ในระหว่างการวิจัยพัฒนาต้นแบบในระดับห้องปฏิบัติการ ได้แก่วัคซีนชนิด Protein subunit และ ชนิด Inactivated โดยเบื้องต้นมีแนวโน้มที่จะได้ผลดี คือสามารถพัฒนาหัวเชื้อไวรัส หรือต้นแบบแอนติเจนที่สามารถนำไปทดสอบการกระตุ้นภูมิคุ้มกันและความปลอดภัยในสัตว์ทดลองต่อไป
.
ทั้งนี้วิจัยพัฒนาวัคซีนต้นแบบในประเทศ เป็นหนึ่งในแนวทางการสร้างความมั่นคงด้านวัคซีน และเป็นกลยุทธ์ในการเข้าถึงวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ของประเทศตามพิมพ์เขียวด้านการพัฒนาวัคซีนของประเทศ
เรียบเรียงข้อมูลโดย: NVI Public Affairs Team
วันที่: 17/10/63