สถาบันวัคซีนแห่งชาติ แจงวัคซีนที่ประเทศจัดหามีคุณภาพ ปลอดภัย และมีคุณสมบัติผ่านเกณฑ์องค์การอนามัยโลก

Home   >   ข่าวสาร   >   บทความและจดหมายข่าว   >   สถาบันวัคซีนแห่งชาติ แจงวัคซีนที่ประเทศจัดหามีคุณภาพ ปลอดภัย และมีคุณสมบัติผ่านเกณฑ์องค์การอนามัยโลก

👁️ เข้าชม 1

📌สถาบันวัคซีนแห่งชาติ แจงวัคซีนที่ประเทศจัดหามีคุณภาพ ปลอดภัย และมีคุณสมบัติผ่านเกณฑ์องค์การอนามัยโลก

นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ เผย วัคซีนโควิด 19 ที่ประเทศไทยจัดหา ทั้งวัคซีนจากแอสตร้าเซนเนก้า และ วัคซีนจากซิโนแวคมีคุณภาพ ประสิทธิภาพ และความปลอดภัยเป็นไปตามมาตรฐานสากล โดยวัคซีนทั้งสองชนิดผ่านข้อกำหนดขององค์การอนามัยโลก (Target Product Profile) อีกทั้ง วัคซีนจากแอสตร้าเซนเนก้า ได้รับการรับรอง Emergency Use Listing (EUL) จากองค์การอนามัยโลกแล้ว เช่นเดียวกับวัคซีนของไฟเซอร์/ไบโอเอ็นเทค เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมา

วัคซีนโควิด 19 ที่ประเทศไทยจัดหามาให้บริการกับประชาชนไทยในระยะแรกทั้งสองชนิด ได้แก่ วัคซีนจากแอสตร้าเซนเนก้า และ วัคซีนจากซิโนแวค ล้วนเป็นวัคซีนที่ผลิตด้วยกระบวนการที่มีการควบคุมคุณภาพอย่างเคร่งครัด มีผลการศึกษาในด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัยเป็นไปตามหลักการสากล ผลการศึกษาประสิทธิภาพของวัคซีนทั้งสองผ่านเกณฑ์ที่องค์การอนามัยโลกกำหนด และเป็นที่ยอมรับจากหน่วยงานควบคุมกำกับในหลายประเทศทั่วโลก โดยวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้า ปัจจุบันเป็นวัคซีนที่มียอดจองสูงสุดกว่า 2,700 ล้านโด๊ส และมีการอนุญาตให้ใช้ในกรณีฉุกเฉินแล้วมากถึง 43 ประเทศทั่วโลก ทั้งนี้ วัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้ายังได้รับการรับรอง Emergency Use Listing (EUL) จากองค์การอนามัยโลกเป็นรายที่สองต่อจากวัคซีนของไฟเซอร์/ไบโอเอ็นเทค เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมา และยังเป็นวัคซีนส่วนใหญ่ที่ COVAX Facility จะกระจายให้กับกลุ่มประเทศ AMC Eligible ที่เป็นประเทศกลุ่มรายได้ต่ำและรายได้ปานกลางค่อนข้างต่ำตามแผนการกระจายวัคซีนของ COVAX Facility อีกด้วย โดยภายหลังการใช้วัคซีนในวงกว้าง ยังไม่ปรากฎเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์หลังได้รับวัคซีนที่รุนแรงแต่อย่างใด นอกจากนี้ จากการประชุมผู้เชี่ยวชาญขององค์การอนามัยโลกเพื่อออกคำแนะนำการใช้วัคซีนของ
แอสตร้าเซนเนก้า พบว่า ไม่ได้ห้ามใช้วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้ากับผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป โดยระบุว่า กลุ่มทดสอบ อายุ 65 ปีขึ้นไปของการทดลองยังมีจำนวนน้อย และพบว่าการใช้วัคซีนมีประสิทธิผลในการลดอาการเจ็บป่วยที่รุนแรงได้ นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลสนับสนุนว่าประสิทธิภาพของวัคซีนเพิ่มขึ้นตามระยะห่างระหว่างการฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 และเข็มที่ 2 โดยแนะนำให้มีระยะห่างของการฉีดที่ 8-12 สัปดาห์ จะได้ประสิทธิภาพของวัคซีนดีที่สุด

สำหรับวัคซีนของซิโนแวคนั้น เป็นวัคซีนที่ถูกผลิตโดยใช้เทคโนโลยีเชื้อตาย ซึ่งเป็นเทคโนโลยีดั้งเดิมในการผลิตวัคซีนป้องกันโรคอื่น ๆ มาแล้วหลายชนิด ระหว่างการศึกษาประสิทธิภาพของวัคซีน ได้มีการทดสอบในกลุ่มประชากรที่เป็นบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า ซึ่งมีโอกาสสัมผัสกับเชื้อสูงกว่ากลุ่มประชากรอื่น โดยวัคซีนได้แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพในการลดอาการป่วยที่รุนแรงในกลุ่มอาสาสมัคร สำหรับการระงับการทดสอบวัคซีนในมนุษย์ที่บราซิลตามที่มีการเผยแพร่ตามสื่อต่าง ๆ เมื่อตรวจสอบสาเหตุแล้ว พบว่าเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่เกิดขึ้นไม่เกี่ยวข้องกับวัคซีน จึงมีการอนุมัติให้สามารถทำการทดสอบวัคซีนต่อได้ ทั้งนี้ วัคซีนซิโนแวคได้รับการอนุมัติทะเบียนจากประเทศจีน เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2564 นอกจากนี้ ยังได้รับอนุมัติให้ใช้ในกรณีฉุกเฉินในอาเซอร์ไบจาน บราซิล ชิลี โคลัมเบีย อินโดนีเซีย ลาว เม็กซิโก ตุรกี และอุรุกวัย ซึ่งกลุ่มประเทศดังกล่าวได้ฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชนแล้วกว่า 2 ล้านโด๊ส โดยฉีดให้แก่บุคลากรทางการแพทย์เป็นกลุ่มแรก นอกจากนี้ ประเทศอินโดนีเซียยังได้อนุมัติให้ใช้วัคซีนของซิโนแวคในผู้สูงอายุด้วย จากการใช้วัคซีนในวงกว้างยังไม่พบรายงานอาการไม่พึงประสงค์ที่รุนแรงเช่นกัน

ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้วางแผนการให้วัคซีนโควิด 19 กับประชากรกลุ่มเป้าหมายในระยะแรก ได้แก่ บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้าทั้งภาครัฐและเอกชน บุคคลที่มีโรคประจำตัว ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมโรคโควิด 19 ที่มีโอกาสสัมผัสกับผู้ป่วยโรคโควิด 19 โดยมีเป้าหมายสำคัญ คือ 1. ลดอัตราการป่วยและเสียชีวิต 2. เพื่อปกป้องระบบสุขภาพของประเทศ ซึ่งบุคลากรทางการแพทย์ จัดว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงจากการทำงาน และ 3. เพื่อให้คนไทยกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติและเกิดการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ

นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ได้กล่าวย้ำอีกว่า “การจัดหาวัคซีนโควิด 19 เพื่อประชาชนไทยยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง และจะขยายการให้วัคซีนให้ครอบคลุมกับประชาชนทุกคนที่ต้องการฉีดวัคซีนตามความสมัครใจ ทั้งนี้ ประเทศไทยยังคงเจรจากับ COVAX Facility เป็นระยะ และหากบรรลุเงื่อนไข ข้อเสนอที่ประเทศจะได้ประโยชน์ ก็อาจมีการทำข้อตกลงการจัดหาวัคซีนผ่าน COVAX Facility ได้”

ที่มา: สถาบันวัคซีนแห่งชาติ
วันที่: 20/02/64