รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ยืนยันประชาชนต้องเข้าถึงวัคซีน โควิด-19 โดยดำเนินการผ่านการออกประกาศตาม ม.18 พระราชบัญญัติความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ พ.ศ. 2561 พร้อมเข้าร่วมองค์การอนามัยโลกโครงการ “COVAX facility” และเจรจาทวิภาคีเพื่อทำความตกลงการจัดหาวัคซีนล่วงหน้า

Home   >   ข่าวสาร   >   ข่าวประชาสัมพันธ์   >   รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ยืนยันประชาชนต้องเข้าถึงวัคซีน โควิด-19 โดยดำเนินการผ่านการออกประกาศตาม ม.18 พระราชบัญญัติความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ พ.ศ. 2561 พร้อมเข้าร่วมองค์การอนามัยโลกโครงการ “COVAX facility” และเจรจาทวิภาคีเพื่อทำความตกลงการจัดหาวัคซีนล่วงหน้า

👁️ เข้าชม 2

📌รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ยืนยันประชาชนต้องเข้าถึงวัคซีน โควิด-19 โดยดำเนินการผ่านการออกประกาศตาม ม.18 พระราชบัญญัติความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ พ.ศ. 2561 พร้อมเข้าร่วมองค์การอนามัยโลกโครงการ “COVAX facility” และเจรจาทวิภาคีเพื่อทำความตกลงการจัดหาวัคซีนล่วงหน้า

เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2563 ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี แพทย์หญิงพรรณประภา ยงค์ตระกูล
โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ
ครั้งที่ 5/2563 ว่า วันนี้นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุม โดยที่ประชุม คณะกรรมการวัคซีนฯ เห็นชอบนโยบายในการจัดหาวัคซีนโดยการจองล่วงหน้า ซึ่งมีโอกาสทั้งได้วัคซีนหรือไม่ได้วัคซีนดังกล่าว แต่เพื่อให้การจัดหาวัคซีนมีความรวดเร็วทันต่อสถานการณ์ ลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ และประชาชนมีโอกาสเข้าถึงวัคซีน จึงมีการยกร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง การจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19)) ในกรณีมีเหตุฉุกเฉินหรือเหตุจำเป็น พ.ศ. 2563 ตามมาตรา 18 (4) แห่งพระราชบัญญัติความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ พ.ศ. 2561 โดยมอบให้สถาบันวัคซีนแห่งชาติเป็นหน่วยงานหลักในการทำข้อตกลงร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งในส่วนของ COVAX facility และการทำความร่วมมือแบบทวิภาคีกับผู้ผลิตวัคซีน ที่กำลังทำการทดสอบในคนระยะที่ 3 ทั้งในเอเชียและยุโรป โดยอยู่ภายใต้เงื่อนไขในลักษณะเดียวกันกับ COVAX facility คือ ต้องลงนามทำสัญญาสำหรับการร่วมพัฒนาศักยภาพการผลิตวัคซีนเพื่อจัดหาวัคซีนและมีการจ่ายเงินในการร่วมพัฒนาล่วงหน้าก่อนที่จะมีวัคซีน

นอกจากนี้ในที่ประชุมได้มีการรายงานความคืบหน้าแผนเร่งรัดการเข้าถึงวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ของประชาชนไทย ในโครงการพัฒนาวัคซีนต้นแบบตั้งแต่ต้นน้ำ และเตรียมความพร้อมรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนโรคโควิด 19 วงเงิน 1,000 ล้านบาท ซึ่งได้รับการจัดสรรจากงบกลางปี 2563 โดยแบ่งเป็น 3 กิจกรรมสำคัญ ได้แก่ การพัฒนาวัคซีนต้นแบบตั้งแต่ต้นน้ำในประเทศไทยชนิด mRNA โดยคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำนวน 365 ล้านบาท การเพิ่มศักยภาพอุตสาหกรรมการผลิตวัคซีนชนิด Viral vector โดยบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด จำนวน 600 ล้านบาท และการเพิ่มศักยภาพโครงสร้างพื้นฐานด้านสัตว์ทดลอง ดำเนินการโดยศูนย์วิจัยไพรเมทแห่งชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำนวน 35 ล้านบาท

ที่มา: สถาบันวัคซีนแห่งชาติ
วันที่: 6/10/63