สถาบันวัคซีนแห่งชาติร่วมกับองค์การอนามัยโลก เปิดเวทีเสวนา เผยทุกข้อมูลเรื่องวัคซีนโควิด 19 “รับมืออย่างไรเมื่อไวรัสสายพันธุ์ใหม่มาเยือน”

Home   >   ข่าวสารด้านวัคซีน   >   สถาบันวัคซีนแห่งชาติร่วมกับองค์การอนามัยโลก เปิดเวทีเสวนา เผยทุกข้อมูลเรื่องวัคซีนโควิด 19 “รับมืออย่างไรเมื่อไวรัสสายพันธุ์ใหม่มาเยือน”

👁️ เข้าชม 1

วันที่ 15 ธันวาคม 2564 ที่ห้องประชุมเพชร สถาบันบำราศนราดูร สถาบันวัคซีนแห่งชาติร่วมกับองค์การอนามัยโลก จัดกิจกรรมเสวนาออนไลน์ เปิดข้อมูล (ไม่) ลับ กับสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ในหัวข้อ เผยทุกข้อมูลเรื่องวัคซีนโควิด 19 “รับมืออย่างไรเมื่อไวรัสสายพันธุ์ใหม่มาเยือน” ซึ่งทำการถ่ายทอดสดผ่านเฟซบุ๊กสถาบันวัคซีนแห่งชาติ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง

ในประเด็นการระบาดของไวรัสสายพันธุ์โอมิครอน รวมทั้งสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น เพื่อป้องกันการป่วยที่รุนแรงและเสียชีวิตจากโควิด 19 ในประชาชนทั้งผู้มีสุขภาพดีและกลุ่มเปราะบางในขณะที่มีการระบาดของไวรัสกลายพันธุ์ โดยการเสวนาครั้งนี้ นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ และ นพ. จอส ฟอนเดลาร์ ผู้แทนองค์การอนามัยโลก ประจำประเทศไทย ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการรับวัคซีนให้ครบโดส ควบคู่ไปกับมาตรการป้องกันตนเองส่วนบุคคล เพื่อให้สามารถควบคุมการระบาด ลดความเสี่ยงของการติดเชื้อ และลดความเสี่ยงของการป่วยรุนแรงจากโรคโควิด 19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ในงานเสวนายังมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ร่วมถ่ายทอดสาระสำคัญเกี่ยวกับวัคซีนโควิด 19 พร้อมตอบข้อสงสัยของประชนในประเด็นที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พญ.ปิยนิตย์ ธรรมาภรณ์พิลาศ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค นพ.วีรวัฒน์ มโนสุทธิ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิและรองผู้อำนวยการสถาบันบำราศนราดูร พญ.สุเนตร ชื่นกิจมงคล รองผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ และคุณลลิตา มั่งสูงเนิน ดำเนินรายการ

สำหรับประเด็นของสถานการณ์การระบาดของไวรัสสายพันธุ์โอมิครอน นพ.ศุภกิจ ได้ให้ข้อมูลว่า ตั้งแต่เปิดประเทศวันที่ 1 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา พบผู้ป่วยจากเชื้อกลายพันธุ์ ทั้งอัลฟา เดลตา บีตา และโอมิครอน ซึ่งโอมิครอนถูกพบแล้ว 14 ราย ยืนยัน 9 ราย(ข้อมูล ณ วันที่ 15 ธันวาคม 2564) ทั้งนี้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้เตรียมความพร้อมของห้องปฏิบัติการสำหรับตรวจหาเชื้อโควิด 19 ทั่วประเทศ อย่างไรก็ตาม การตรวจวิเคราะห์สายพันธุ์ไม่ได้ทำโดยทั่วไป จะมีการตรวจที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ และมหาวิทยาลัยบางแห่งเท่านั้น การตรวจสำหรับประชาชนโดยทั่วไปไม่จำเป็นต้องทราบถึงสายพันธุ์ เนื่องจากอาการของโรคไม่มีความต่างกัน รวมถึงการให้การรักษาอาการป่วยจากโควิด 19 ทุกสายพันธุ์ใช้มาตรฐานเดียวกันในการรักษา ประชาชนจึงไม่ต้องกังวลในประเด็นดังกล่าว สำหรับโควิดสายพันธุ์โอมิครอนมีการกลายพันธุ์จากสายพันธุ์ดั้งเดิม โดยได้รวมคุณสมบัติหลาย ๆ อย่างของสายพันธุ์ที่เคยพบ คือ แพร่ได้อย่างรวดเร็ว หลบภูมิคุ้มกันได้ดี แต่อาการไม่ได้รุนแรงขึ้นกว่าเดิม ทั้งนี้การตรวจสายพันธุ์โควิด 19 ในไทย สามารถตรวจได้ 3 รูปแบบ คือ RT-PCR, Target sequencing, Whole genome sequencing ซึ่ง นพ.ศุภกิจ ได้ให้ความมั่นใจว่าการตรวจของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์สามารถคัดครองโอมิครอนได้อย่างแน่นอน ทั้งนี้ประชาชนยังจำเป็นต้องปฏิบัติตัวตาม 4 มาตรการ VUCA ได้แก่ Vaccine (ฉีดครบ ลดป่วยหนัก) Universal Prevention (ป้องกันตนเองตลอดเวลา ห่างไกลจากโควิด) COVID Free Setting (สถานที่บริการพร้อม ผู้ให้บริการครบ ตรวจ ATK ทุกสัปดาห์) และ ATK (พร้อมตรวจเสมอเมื่อใกล้ชิดคนติดเชื้อหรือมีอาการทางเดินหายใจ) อย่างเคร่งครัด เพื่อให้สามารถควบคุมโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สำหรับความพร้อมในการรับมือด้านวัคซีนของกระทรวงสาธารณสุขนั้นพญ.ปิยนิตย์ ได้ให้ข้อมูลว่า ผลการศึกษาวัคซีนทั้งในประเทศและทั่วโลก พบว่าวัคซีนที่มีอยู่ในขณะนี้ทุกชนิดสามารถป้องกันอาการรุนแรง นอนโรงพยาบาลหรือเสียชีวิตได้ดี ทั้งนี้ผลการศึกษาประสิทธิผลของวัคซีน พบว่าวัคซีนทุกชนิด

สามารถป้องกันการป่วยรุนแรงและเสียชีวิตได้มากกว่า 90% ซึ่งถือว่าเป็นข้อดี เนื่องจากเราพบว่าโอมิครอนมีอัตราความรุนแรงไม่มากนัก แต่ถึงอย่างไรในปัจจุบันก็ยังไม่มีวัคซีนชนิดใดที่ป้องกันการติดเชื้อได้ 100 % โดยเมื่อได้รับการฉีดวัคซีนแล้วผ่านไประยะเวลาหนึ่ง ภูมิคุ้มกันจะลดลงตามธรรมชาติ ทั้งนี้ ผลการศึกษาในประเทศยังพบอีกว่า วัคซีนเชื้อตาย (ซิโนแวค, ซิโนฟาร์ม) สามารถป้องกันการติดเชื้อในช่วงแรกได้ถึง 60% เมื่อฉีดครบโดส และเมื่อฉีดเข็มบูสเตอร์ในช่วงสัปดาห์แรกสามารถป้องกันการติดเชื้อได้ 90% ถัดมาคือวัคซีนกลุ่มไวรัลเวคเตอร์ (แอสตร้าเซนเนก้า) สามารถป้องกันการป่วยรุนแรงได้ดี ซึ่งสามารถป้องกันการติดเชื้อได้ถึง 70% เมื่อฉีดครบโดส เช่นเดียวกับสูตรไขว้ และผู้ที่ได้รับวัคซีนกลุ่มเอ็มอาร์เอ็นเอ (ไฟเซอร์, โมเดอร์นา) 2 เข็ม ยังไม่ควรฉีดกระตุ้นเนื่องจากภูมิคุ้มกันยังสูงอยู่ ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดแนวทางของการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น รวมถึงระยะเวลาที่เหมาะสมของการรับวัคซีนเข็มกระตุ้นแล้ว และปัจจุบันรัฐบาลได้มีการรณรงค์ให้ประชาชนโดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง คือ ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว และหญิงตั้งครรภ์เข้ารับวัคซีนเข็มกระตุ้น เพื่อเร่งกระตุ้นภูมิคุ้มกันในการต้านไวรัสกลายพันธุ์นี้ ทั้งนี้ ในช่วงสุดท้าย พญ.ปิยนิตย์ได้กล่าวถึง การบริหารจัดการวัคซีนโควิด 19 ของประเทศไทยสำหรับปี 2565 ว่า รัฐบาลมีการจัดหาวัคซีนถึง 120 ล้านโดส ซึ่งเพียงพอต่อความต้องการวัคซีนในไทย และเชิญชวนทุกคนที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน ทั้งยังไม่ได้ฉีดวัคซีนเลย ผู้ที่ฉีดวัคซีนไปแล้วแต่ยังไม่ครบโดส รวมถึงผู้ที่ถึงคิวรับวัคซีนเข็มกระตุ้น ให้ได้รับการฉีดวัคซีนโดยเร็ว

ในประเด็นประสิทธิภาพวัคซีนโควิด 19 ที่มีอยู่ในปัจจุบันต่อไวรัสกลายพันธุ์ พญ.สุเนตร ได้ให้ข้อมูล ว่า สายพันธุ์เดลตายังคงเป็นสายพันธุ์หลักที่ระบาดหนัก ในขณะที่โอมิครอนค่อย ๆ ระบาด ขึ้นมาอย่างรวดเร็ว แต่ว่าวัคซีนยังคงมีประสิทธิภาพ ข้อมูลจากสหรัฐอเมริกาชี้ให้เห็นว่าผู้ที่ฉีดวัคซีนครบโดสสามารถลดการติดเชื้อเดลตาได้ถึง 5 เท่า ลดการรักษาที่ต้องนอนโรงพยาบาลได้

มากกว่า 10 เท่า และป้องกันการเสียชีวิตจากโควิด 19 ได้มากกว่า 10 เท่า เมื่อเทียบกับผู้ที่ฉีดวัคซีนไม่ครบโดส ขณะที่ข้อมูลในประเทศแอฟริกาใต้ ซึ่งมีการระบาดของโอมิครอนไปเมื่อ 3 สัปดาห์ที่แล้ว นักวิจัยพบว่าโอมิครอน สามารถหลบหลีกภูมิคุ้มกันได้ดี โดยกลุ่มคนแรกที่ติดเชื้อโดยเฉลี่ยพบในผู้ที่มีอายุน้อย แต่ผู้ที่มีอาการหนัก คือ ผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีน และพบว่าผู้ที่เคยติดแล้วยังสามารถติดซ้ำได้ ขณะที่วัคซีนที่มีในปัจจุบันยังคงมีประสิทธิภาพในการป้องกันอาการรุนแรงจากสายพันธุ์เดิมและสายพันธุ์ใหม่ได้ นอกจากนี้ ข้อมูลการระบาดของโอมิครอนในอังกฤษพบมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 1 ราย(ข้อมูล ณ วันที่ 13 ธันวาคม 2564) จากไวรัสสายพันธุ์ดังกล่าว ทั้งนี้ อังกฤษมีการรับมือกับการระบาดของไวรัสสายพันธุ์โอมิครอนด้วยการรณรงค์ให้ประชาชนเข้ารับวัคซีนเข็มกระตุ้น โดยตั้งเป้าฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้กับประชาชนให้ได้วันละ 1 ล้านโดส นอกจากนี้ พญ.สุเนตร กล่าวเน้นย้ำว่า องค์การอนามัยโลกมีคำแนะนำให้ประชาชนที่ฉีดวัคซีนเชื้อตาย และกลุ่มที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ ควรเข้ารับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น เพื่อลดความรุนแรงของโรค และยังคงต้องมีการปฏิบัติตนตามมาตรการป้องกันส่วนบุคคลอย่างเคร่งครัด

สำหรับประเด็นสุดท้ายของการเสวนา นพ.วีรวัฒน์ กล่าวถึงประเด็นความจำเป็นของการเร่งสร้างภูมิคุ้มกันในกลุ่มเปราะบาง ในสถานการณ์ที่มีการระบาดของไวรัสกลายพันธุ์ ว่า ประชาชนกลุ่มเปราะบางคือ กลุ่ม 608 ได้แก่ กลุ่มผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว และกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ที่อายุครรภ์มากกว่า 12 สัปดาห์ขึ้นไป ซึ่งเป็นกลุ่มที่กระทรวงสาธารณสุขเร่งให้มีการฉีดวัคซีนในช่วงแรก และประชากรกลุ่มที่มีภาวะภูมิคุ้มกันอ่อนแอ ได้แก่ ผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ ผู้ป่วย HIV ที่ไม่ได้รับการรักษา ผู้มีโรคร่วมหลายโรค และผู้ป่วยกลุ่มโรคภูมิแพ้ตนเอง เพราะ ผู้ป่วยสามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้น้อยกว่าคนปกติ และผู้ป่วยบางกลุ่มได้รับยากดภูมิคุ้มกัน ทำให้ไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้อย่างเต็มที่ หากมีการติดเชื้ออาการจะหนักกว่าคนทั่วไป ข้อกังวลในการฉีดวัคซีนโควิด 19 ในกลุ่มนี้ คือ ประสิทธิผลของวัคซีนโควิด 19 ภายหลังฉีดครบโดสน้อยกว่าในคนปกติ ขณะที่การศึกษาการให้วัคซีนเข็มเสริม (Additional dose) ในผู้มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง พบว่า ผู้ป่วยมีการสร้างภูมิคุ้มกันโรคดีขึ้นกว่าเข็มกระตุ้น โดยคำแนะนำของ

องค์การอนามัยโลก เรื่องการฉีดวัคซีนเข็มเสริมของกลุ่มผู้มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง (26 ตุลาคม 2564) คือ กลุ่มผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ในระยะแอคทีฟหรือภายใน 12 เดือน หลังจบการรักษา กลุ่มผู้ป่วยปลูกถ่ายอวัยวะในช่วง 2 ปีแรกหรือกำลังได้ยากดภูมิ กลุ่มผู้ที่มีภูมิต้านทานต่ำรุนแรง เช่น ได้รับยากดภูมิหรือสเตียรอยด์ รวมถึงผู้ที่ได้รับการล้างไตต่อเนื่อง และผู้ป่วยเอดส์ที่ปริมาณเม็ดเลือดขาวน้อยกว่า 200 เซลล์ต่อลบ.มม. และยังไม่ได้รับยาต้านไวรัส ซึ่งควรให้วัคซีนเข็มเสริมในระยะเวลาอย่างน้อย 1-3 เดือน หลังจากได้รับชุดแรกแล้ว หากผ่านไปนานกว่า 3 เดือน นับจากการฉีดวัคซีนครั้งสุดท้ายควรให้เข็มเสริมโดยเร็ว โดยให้ผู้ป่วยปรึกษาแพทย์ผู้ให้การรักษาถึงระยะเวลาการรับวัคซีนที่เหมาะสม และบุคคลที่มีกำหนดเวลารับการบำบัดด้วยภูมิคุ้มกันจะมีช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดสำหรับวัคซีนเข็มเสริมแตกต่างกันไป ดังนั้นควรปรึกษาแพทย์ผู้ให้การรักษา ทั้งนี้การให้วัคซีนเข็มเสริมชนิดเดียวกับชุดแรกเป็นแนวทางมาตรฐาน อย่างไรก็ตาม อาจพิจารณาจากวัคซีนเข็มเสริมต่างชนิดกับชุดแรกโดยพิจารณาจากวัคซีนที่สามารถจัดหาได้ สำหรับประเทศไทย ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทยได้มีคำแนะนำในการให้วัคซีนเข็มที่ 3 ในกลุ่มในผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ ว่า หากได้รับวัคซีนเชื้อตาย 2 เข็ม ให้รับเข็มที่ 3 เป็นชนิดเอ็มอาร์เอ็นเอ จำนวน 3 เข็ม ห่างกัน 1 เดือน โดยเริ่มนับหลังเข็มสุดท้าย 1 เดือน ในส่วนของผู้ที่ได้รับวัคซีนชนิดเอ็มอาร์เอ็นเอ จำนวน 2 เข็ม และสูตรไขว้ ให้รับเข็มที่ 3 เป็นชนิดเอ็มอาร์เอ็นเอ จำนวน 2 เข็ม ห่างกัน 1 เดือน โดยเริ่มนับหลังเข็มสุดท้าย 1 เดือน และผู้มีภูมิคุ้มกันต่ำและเคยเป็นโควิด 19 มาแล้ว ให้ได้รับวัคซีนชนิดเอ็มอาร์เอ็นเอ

ในการเสวนาดังกล่าว ผู้เชี่ยวชาญได้มีการตอบข้อสงสัยของประชาชนในหลายประเด็นที่เกี่ยวข้อง โดยท่านสามารถติดตามรับชมย้อนหลังได้ทาง https://www.facebook.com/nvikm/videos/1229179780825487

Reference: posttoday.com