26 มกราคม 2023

สถาบันวัคซีนแห่งชาติ ร่วมบรรยาย งานประชุมวิชาการ The Academic activity with Prince Mahidol 2022 Laureates “ HPV Day ” ณ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

      สถาบันวัคซีนแห่งชาติ ร่วมบรรยาย งานประชุมวิชาการ The Academic activity with Prince Mahidol 2022 Laureates “ HPV Day ” ณ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

      เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2566 นายแพทย์นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ เข้าร่วมเป็นวิทยากรในการประชุมหัวข้อ The Academic activity with Prince Mahidol 2022 Laureates “ The HPV Day ” ณ สมาคมไวรัสวิทยา (ประเทศไทย) คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล โดยสมาคมไวรัสวิทยา (ประเทศไทย) เป็นเจ้าภาพร่วมกับฝ่ายวิจัย ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ ภาควิชาจุลชีววิยา และภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

       การประชุมครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลวิชาการ ระหว่างบุคลากรทางการแพทย์ที่สนใจกับผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลครั้งที่ 31 ประจำปี 2565 สาขาการสาธารณสุข จำนวน 2 ท่าน ได้แก่ นายแพทย์ดักลาส อาร์ โลวี และ ดร.จอห์น ที ชิลเลอร์ ซึ่งได้ร่วมกันศึกษาวิจัยที่สถาบันมะเร็งแห่งชาติสถาบันสุขภาพแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา และค้นพบว่าโปรตีนหลักของอนุภาคไวรัส Human Papilloma Virus (HPV) สามารถประกอบร่างกันได้เองเป็นอนุภาคคล้ายไวรัส (VLP) ซึ่งอนุภาคคล้ายไวรัสนี้สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันไวรัส HPV ได้ดี

       โดยการค้นพบนี้นำไปสู่การพัฒนากระบวนการผลิตอนุภาคคล้ายไวรัสจากโปรตีนรีคอมบิแนนท์ และนำไปสู่การพัฒนาวัคซีน HPV ที่มีประสิทธิภาพสูงที่ใช้ได้ผลดีการป้องกันมะเร็งปากมดลูกและมะเร็งชนิดอื่นที่เกี่ยวข้องกับ HPV

     ภายในงาน นายแพทย์นคร ได้ร่วมบรรยายและแลกเปลี่ยนข้อมูลในหัวข้อ HPV Vaccine Effectiveness and Potential Manufacturing Collaboration in Thailand ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับการศึกษาประสิทธิผลของการใช้วัคซีน HPV ในประเทศไทย และการสร้างความร่วมมือในการผลิตวัคซีน HPV ระดับอุตสาหกรรมในประเทศ

     ทั้งนี้ การประชุมวิชาการที่เกิดขึ้น เป็นกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับพิธีพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2565 จากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 26 มกราคม 2566 ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง ซึ่งในสาขาการสาธารณสุขนี้ ยังมี ศาสตราจารย์นายแพทย์เอียน เอช เฟรเซอร์ อีกท่านหนึ่งที่ได้รับพระราชทานรางวัลดังกล่าว โดยนายแพทย์เอียน เป็นผู้ค้นพบกลไกการประกอบร่างของอนุภาคคล้ายไวรัสนี้เช่นกัน ในระหว่างที่ทำการศึกษาวิจัยที่มหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ ประเทศออสเตรเลีย

ที่มา : สถาบันวัคซีนแห่งชาติ
วันที่ 26 มกราคม 2566