Home > ข่าวสาร > ข่าวประชาสัมพันธ์ > คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ เห็นชอบนโยบายการเร่งรัดการให้บริการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค การให้วัคซีนป้องกันโรคโปลิโอชนิดฉีด (IPV) 2 โดส และการเร่งสร้างความครอบคลุมของการฉีดวัคซีน HPV
👁️ เข้าชม 2
📌 คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ เห็นชอบนโยบายการเร่งรัดการให้บริการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค การให้วัคซีนป้องกันโรคโปลิโอชนิดฉีด (IPV) 2 โดส และการเร่งสร้างความครอบคลุมของการฉีดวัคซีน HPV 📌
คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติเห็นชอบนโยบายการเร่งรัดการให้บริการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด 19 การผลักดันการให้วัคซีนป้องกันโรคโปลิโอชนิดฉีด (IPV) เพิ่มเป็น 2 โดส รวมถึงการเร่งสร้างความครอบคลุมของการได้รับวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก (HPV) และได้พิจารณาให้ความเห็นต่อวาระสำคัญ ได้แก่ (ร่าง) ระเบียบคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติว่าด้วยการส่งเสริม การสนับสนุน เพื่อการจัดหาวัคซีนในกรณีมีเหตุฉุกเฉินหรือมีเหตุจำเป็น ในการประชุมคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติครั้งที่ 1/2566
วันนี้ (2 มีนาคม 2566) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
ในฐานะประธานคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ พร้อมด้วยนายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค นายแพทย์นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ และคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติครั้งที่ 1/2566
ณ ห้องประชุมชัยนาทนเรนทร อาคาร 1 ชั้น 2 ตึกสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข โดยมีการเข้าร่วมทั้งในที่ประชุมและรูปแบบออนไลน์
นายอนุทิน กล่าวว่า การบริหารจัดการวัคซีนโควิด 19 ของประเทศไทยที่ผ่านมาเป็นเครื่องพิสูจน์ได้ดีว่า กระทรวงสาธารณสุขสามารถรับมือกับสถานการณ์โควิด 19 ได้เป็นอย่างดี และด้วยความสัมพันธ์อันดีกับนานาประเทศ จึงทำให้นอกจากที่ประเทศไทยได้รับวัคซีนจากการจัดซื้อแล้ว ยังทำให้ได้รับวัคซีนจากการบริจาคจากประเทศพันธมิตรหลายประเทศอีกด้วย โดยในปัจจุบัน ประเทศไทยได้รับสนับสนุนวัคซีนชนิด Bivalent ของ Pfizer จากสาธารณรัฐเกาหลีใต้ จำนวน 5 แสนโดส เพื่อนำมาฉีดสร้างเสริมภูมิคุ้มกันให้แก่ประชาชนกลุ่มเสี่ยง โดยได้มอบหมายให้กรมควบคุมโรค เป็นหน่วยงานในการกระจายจัดสรรวัคซีนให้แก่ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ประชาชนได้รับวัคซีนอย่างถ้วนหน้า และสำหรับการบริหารการฉีดวัคซีน นั้น กระจายผ่านโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพสต.) โดยนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดมีหน้าที่การบริหารจัดการให้แก่ประชาชน การจัดหาวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก ซึ่งดำเนินการตามนโยบายของ สปสช. ผ่านบริษัทผู้ผลิตวัคซีนองค์การเภสัชกรรม จำนวน 8 แสนโดส เป็นเรื่องที่ต้องเร่งดำเนินการควบคู่ไปกับวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19
นายแพทย์นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ รายงานความก้าวหน้าของการพัฒนาวัคซีนโควิด 19 ในประเทศ ที่ได้รับการสนับสนุนงบประมารในการวิจัยพัฒนาจากรัฐ โดยขณะนี้วัคซีนโควิด 19 ที่ได้ทำการทดสอบในมนุษย์ จำนวน 3 ชนิด ได้แก่ 1) วัคซีน HXP-GPOVAC ชนิด NDV-HXP-S โดยองค์การเภสัชกรรม 2) วัคซีน ChulaCov19 ชนิด mRNA โดยศูนย์วิจัยวัคซีน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 3) วัคซีน Baiya SARS-CoV-2 Vax ชนิด Protein Subunit โดยบริษัท ใบยาไฟโตฟาร์ม จำกัด นอกจากนี้ ยังมีวัคซีนซึ่งใกล้เข้าสู่การทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 1 คือ วัคซีนโควิด 19 แบบพ่นจมูก ชนิด Adenovirus-based และ Influenza-based โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ และนอกจากการสนับสนุนการวิจัยพัฒนาวัคซีนโควิด 19 ในประเทศ รัฐบาลยังได้ให้การสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นอีกหลายแห่งในการผลิตวัคซีนให้มีความพร้อมรองรับการระบาดที่จะเกิดในอนาคตอีกด้วย
คณะกรรมการได้ร่วมพิจารณาและให้ความเห็นต่อวาระสำคัญ ได้แก่ ข้อเสนอเชิงนโยบายการจัดหาวัคซีนในกรณีมีเหตุฉุกเฉินหรือมีเหตุจำเป็น และ (ร่าง) ระเบียบคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ ว่าด้วยการส่งเสริม การสนับสนุน เพื่อการจัดหาวัคซีนในกรณีมีเหตุฉุกเฉินหรือมีเหตุจำเป็น ซึ่งมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อให้การจัดหาวัคซีนในกรณีที่มีเหตุฉุกเฉินและจำเป็นทางสาธารณสุข สามารถดำเนินการได้อย่างทันท่วงที โดยอาศัยการถอดบทเรียนจากการจัดซื้อวัคซีนในช่วงการระบาดของโรคโควิด 19 ที่ผ่านมา โดยคณะกรรมการได้มอบหมายให้สถาบันวัคซีนแห่งชาติ ดำเนินการทบทวน (ร่าง) ระเบียบเพิ่มเติมตามคำแนะนำของคณะกรรมการ เพื่อให้กลไกดังกล่าวสามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว และรัดกุม เป็นไปตามวัตถุประสงค์ และให้เสนอร่างระเบียบที่มีการแก้ไขปรับปรุงเพื่อพิจารณาในการประชุมครั้งถัดไป
สำหรับนโยบายการเร่งรัดการให้บริการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อเร่งสร้างความครอบคลุมของการได้รับวัคซีนในแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้นกันโรคที่ลดลง เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด 19 การผลักดันการให้วัคซีนป้องกันโรคโปลิโอชนิดฉีด (IPV) 2 โดส (ฉีดครั้งละ 1 โดส เมื่อเด็กอายุ 2 และ 4 เดือน) และลดการให้วัคซีนโปลิโอชนิดรับประทาน (OPV) OPV เหลือ 3 ครั้ง สำหรับชุดสิทธิประโยชน์ของประชาชน
ในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเพื่อให้สอดคล้องกับคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกและยกระดับภูมิคุ้มกันของประเทศให้เพียงพอต่อการป้องกันโรคและลดความเสี่ยงในการระบาดของโรคโปลิโอที่จะส่งผลกระทบต่อประเทศทั้งด้านสาธารณสุข และด้านเศรษฐกิจโดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว รวมถึงวาระการเร่งสร้างความครอบคลุมของการฉีดวัคซีน HPV ให้กับเด็กหญิงชั้นป.5 รุ่นปีการศึกษา 2562-2564 ที่ยังไม่ได้รับวัคซีน HPV เนื่องจากเกิดสถานการณ์วัคซีนขาดคราวทั่วโลกที่เสนอโดยกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข นั้น คณะกรรมการมีมติเห็นชอบตามมติของคณะกรรมการอนุกรรมการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรค และมอบหมายให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการโดยด่วน
นอกจากนี้ นายแพทย์นครยังได้รายงานผลการดำเนินงานตามนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563-2565 ซึ่งเป็นการดำเนินการร่วมกันระหว่างหน่วยงานเครือข่ายด้านวัคซีนของประเทศ และได้มีการปรับนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ พ.ศ.2566-2570 ใหม่ ให้สอดคล้องกับแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) พ.ศ.2566-2570 ซึ่งสถาบันวัคซีนแห่งชาติ
มีบทบาทเป็นผู้ให้ทุนสนับสนุนการพัฒนาวัคซีนตลอดวงจร
ที่มา : สถาบันวัคซีนแห่งชาติ
วันที่ 2 มีนาคม 2566