Home > ข่าวสาร > ข่าวประชาสัมพันธ์ > สธ. รับมอบวัคซีนโมเดอร์นาชนิด “Bivalent” จำนวน 1,000,200 โดส จากรัฐบาลฝรั่งเศส เผย ที่ผ่านมาสนับสนุนวัคซีนให้ไทยมาแล้ว 2 ครั้ง รวม 3.2 ล้านโดส พร้อมชื่นชมประเทศฝรั่งเศสที่ริเริ่มการป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคจากสัตว์สู่คน โรคอุบัติใหม่ และโรคอุบัติซ้ำ ตามแนวทางสุขภาพหนึ่งเดียว
👁️ เข้าชม 0
รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รับมอบวัคซีนโมเดอร์นาชนิด “Bivalent” จำนวน 1,000,200 โดส จากรัฐบาลฝรั่งเศส เผย ที่ผ่านมาสนับสนุนวัคซีนให้ไทยมาแล้ว 2 ครั้ง รวม 3.2 ล้านโดส พร้อมชื่นชมประเทศฝรั่งเศสที่ริเริ่มการป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคจากสัตว์สู่คน โรคอุบัติใหม่ และโรคอุบัติซ้ำ ตามแนวทางสุขภาพหนึ่งเดียว
วันนี้ (13 มีนาคม 2566) ที่สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค และคณะผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข รับมอบวัคซีนโมเดอร์นาชนิด “Bivalent” จำนวน 1,000,200 โดส จากรัฐบาลฝรั่งเศส โดยมี นายตีแยรี มาตู เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐฝรั่งเศสประจำประเทศไทย และคณะ เป็นผู้แทนส่งมอบ
นายอนุทิน กล่าวว่า ในนามรัฐบาลไทยและกระทรวงสาธารณสุข ขอขอบคุณรัฐบาลฝรั่งเศส ในความช่วยเหลืออันดีที่มีให้แก่ประเทศไทยเสมอมา รวมทั้งความร่วมมือด้านสาธารณสุขในการแก้ไขสถานการณ์โรคโควิด 19 โดยรัฐบาลฝรั่งเศสเคยสนับสนุนวัคซีนไฟเซอร์เพื่อป้องกันโรคโควิด 19 มาแล้ว 2 ครั้ง รวม 3.2 ล้านโดส ซึ่งถูกส่งมาถึงประเทศไทยอย่างทันท่วงที สามารถช่วยเหลือคนไทยและชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศได้ ในช่วงเวลาที่สำคัญ โดยครั้งที่ 3 นี้เป็นวัคซีนโมเดอร์นาชนิด “Bivalent” จำนวน 1,000,200 โดส แสดงถึงความร่วมมือและมิตรภาพที่ใกล้ชิดของทั้งสองประเทศ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขจะกระจายไปทั่วประเทศเพื่อสร้างเสริมภูมิคุ้มกันให้กับประชาชนต่อไป
นายอนุทิน กล่าวต่อว่า ปัจจุบันประชาชนในประเทศไทยได้รับวัคซีนเข็มแรกมากกว่าร้อยละ 83 ของประชากรทั้งหมด และได้รับวัคซีนเข็มที่สองร้อยละ 78 ซึ่งการระบาดของโรคโควิด 19 แสดงให้เห็นถึงความร่วมมือระหว่างประเทศ และความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในการร่วมต่อสู้กับภัยคุกคามด้านสุขภาพทั่วโลก ทั้งนี้ ประเทศฝรั่งเศส ยังริเริ่มในการป้องกันโรคจากสัตว์สู่คน โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อเสริมสร้างความร่วมมือระดับโลกในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว รวมถึงโรคอุบัติใหม่ และโรคอุบัติซ้ำ ตลอดจนประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมผ่านแนวทาง “สุขภาพหนึ่งเดียว” ซึ่งประเทศไทยได้มีการดำเนินงานและเข้าร่วมโครงการนี้เช่นกัน และมั่นใจว่าจะเป็นส่วนสำคัญในการจัดการกับสถานการณ์ด้านสาธารณสุขทั้งในปัจจุบันและอนาคต
************************************************ 13 มีนาคม 2566