Home > ข่าวสาร > ข่าวประชาสัมพันธ์ > องค์การเภสัชกรรมจับมือ บริษัท SK bioscience Co., Ltd สาธารณรัฐเกาหลี เดินหน้าผลิตวัคซีน เพื่อสร้างความมั่นคงด้านสาธารณสุขของประเทศและภูมิภาค
👁️ เข้าชม 23
องค์การเภสัชกรรม ลงนามบันทึกความเข้าใจ กับ บริษัท SK bioscience Co., Ltd. สาธารณรัฐเกาหลี ร่วมมือผลิตวัคซีน ป้องกันไข้หวัดใหญ่จากเซลล์เพาะเลี้ยง และเพื่อความมั่นคงด้านวัคซีนของประเทศและภูมิภาค รวมถึง แสวงหาเทคโนโลยีที่ทันสมัยสำหรับการผลิตวัคซีนชนิดอื่น ๆ ในการร่วมสนับสนุนนานาชาติ ในการผลิตวัคซีนป้องกันโรค
วันที่ 4 กรกฎาคม 2566 เวลา 14.00 น. ที่ห้องประชุมชัยนาทนเรนทร สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม เป็นประธานการลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างองค์การเภสัชกรรม โดย แพทย์หญิงมิ่งขวัญ สุพรรณพงศ์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กับ บริษัท SK bioscience Co., Ltd. สาธารณรัฐเกาหลี โดย Mr. Ahn Jae Yong,CEO บริษัท SK bioscience Co., Ltd และ Mr. Jeon Joyoung อุปทูตรักษาสถานเอกอัคราชทูต สาธารณรัฐเกาหลีประจำประเทศไทย เป็นสักขีพยาน
นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า ประเทศไทยมีนโยบายการดูแลสุขภาพของประชากรทุกคน โดยเฉพาะเรื่องการให้บริการวัคซีน ซึ่งเป็นเครื่องมือสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคเพื่อป้องกัน ควบคุม ลดการป่วยรุนแรงและสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ เช่นเดียวกับประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะในช่วงการระบาดของโควิด-19 การฉีดวัคซีนให้กับประชาชนอย่างทั่วถึงและรวดเร็วถือเป็นมาตรการสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยผ่านพ้นวิกฤตการณ์มาได้ และเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2565 กระทรวงสาธารณสุขของไทยได้ร่วมพิธีแสดงสัตยาบันกับสถาบันวัคซีนนานาชาติ (IVI)“Thailand-IVI Ratification Ceremony” ณ กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี เพื่อระดมความร่วมมือจากนานาชาติ ในการสร้าง “อนาคตของวัคซีนเพื่อความมั่นคงทางด้านสาธารณสุขของประเทศ” โดยได้มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงสาธารณสุขของประเทศไทยกับกระทรวงสาธารณสุขและสวัสดิการแห่งสาธารณรัฐเกาหลี ว่าด้วยความร่วมมือด้านสาธารณสุข มุ่งเน้นความมั่นคงด้านสุขภาพ การเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ระบบสุขภาพ การดูแลสุขภาพดิจิทัล และการส่งเสริมสุขภาพ ซึ่งทำให้เกิดการส่งเสริมความร่วมมือ ในการวิจัยและพัฒนาวัคซีนต่างๆ รวมถึงการพัฒนาบุคลากรด้านวัคซีน
นายแพทย์โอภาส กล่าวต่อไปว่า การพัฒนาเทคโนโลยีด้านวัคซีนนั้น ส่งผลให้การรักษาโรคมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น บุคลากรทางด้านวัคซีนต้องปรับตัวและเรียนรู้เทคโนโลยีอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้รับมือกับการเปลี่ยนแปลงได้อย่างทันท่วงที บันทึกความเข้าใจดังกล่าวเปรียบเสมือนการปูทางไปสู่การแบ่งปันความรู้และความเชี่ยวชาญของทั้งสองประเทศ โดยมีเป้าหมายเดียวกันคือ เพื่อเสริมสร้างระบบสุขภาพของทั้งสองประเทศให้มีความมั่นคง รวมทั้งพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้เข้าถึงวัคซีนที่สำคัญต่อสุขภาพได้ดียิ่งขึ้นการลงนามในครั้งนี้จะเป็นอีกหนึ่งประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญของประเทศไทย โดยกระทรวงสาธารณาสุขพร้อมที่จะให้การสนับสนุนเพื่อความร่วมมือเกิดขึ้นอย่างเต็มที่
แพทย์หญิงมิ่งขวัญ สุพรรณพงศ์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า โรงงานผลิตวัคซีนขององค์การเภสัชกรรม ได้ดำเนินการการวิจัยพัฒนาการผลิตวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่สำหรับใช้ในกรณีที่มีการระบาดและวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล จนประสบความสำเร็จ และจากวิกฤตการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมาองค์การเภสัชกรรม ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาล เพื่อสร้างศักยภาพและเตรียมความพร้อมสำหรับโรคอุบัติซ้ำและอุบัติใหม่ โดยเริ่มวิจัยและพัฒนาการผลิตวัคซีนโควิด-19 ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำโดยใช้เทคโนโลยีการผลิตวัคซีนจากไข่ไก่ (Egg-based technology) นอกจากนี้ยังได้เริ่มการพัฒนาวัคซีนที่ผลิตจากเซลล์เพาะเลี้ยง (Cell-based technology)
การลงนามบันทึกข้อตกลงในครั้งนี้เพื่อสร้างความร่วมมือกับ SK bioscience Co., Ltd ซึ่งเป็นผู้ผลิตวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลชนิดเชื้อตายจากเซลล์เพาะเลี้ยง (Cell-based inactivated influenza)ชนิด 3 สายพันธุ์ และ 4 สายพันธุ์ ในรูปแบบของวัคซีนพร้อมบรรจุ (Ready to fill bulk) และถ่ายทอดเทคโนโลยีกระบวนการบรรจุ เพื่อการผลิตวัคซีนสำเร็จรูป (Drug product) โดยองค์การเภสัชกรรม เพื่อให้มีการใช้สถานที่และระบบสนับสนุน (Facility and Utility) ทรัพยากรต่างๆ อย่างคุ้มค่าที่สุด รวมทั้งสร้างองค์ความรู้และความชำนาญให้กับบุคลากรอีกด้วย
บริษัท SK bioscience Co., Ltd จะเป็นผู้ให้คำปรึกษาและถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านกระบวนการผลิตและองค์ความรู้ต่างๆ ให้กับองค์การเภสัชกรรม เพื่อสร้างมาตรฐานในระดับสากล เช่น WHO Prequalification รวมทั้งการศึกษาโอกาสที่จะตั้งโรงงานผลิตตัวยาสำคัญ (Drug substance) ในประเทศไทย หรือใช้สถานที่และระบบสนับสนุนขององค์การเภสัชกรรม ภายใต้การสนับสนุนจากหน่วยงานของภาครัฐ รวมถึงสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของประเทศไทย เพื่อสร้างศักยภาพในการรองรับการระบาดใหญ่ (Pandemic)การรับถ่ายทอดเทคโนโลยีดังกล่าวจะขยายขีดความสามารถในการผลิตวัคซีนสำหรับสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคและตอบสนองด้วยการเข้าถึงวัคซีนได้อย่างกว้างขวางทั้งประเทศไทยรวมถึงภูมิภาคอาเซียน
Mr. Jeon Joyoung อุปทูตรักษาสถานเอกอัคราชทูต สาธารณรัฐเกาหลีประจำประเทศไทย กล่าวว่า การร่วมมือกันระหว่างองค์การเภสัชกรรมและบริษัท SK bioscience Co., Ltd จะช่วยเสริมสร้างความสามารถในการผลิตวัคซีนอย่างยิ่ง และนอกจากนี้ทั้งสองฝ่ายยังมีโอกาสในการพัฒนาศักยภาพสำหรับการวิจัยและพัฒนาวัคซีนชนิดต่างๆ รัฐบาลของสาธารณรัฐเกาหลีจะให้การสนับสนุนอย่างเต็มที
Mr. Ahn Jae Yong ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท SK bioscience Co., Ltd กล่าวว่า บริษัท SK bioscience เป็นบริษัทผู้ผลิตและพัฒนาวัคซีนและผลิตภัณฑ์จากเทคโนโลยีชีวภาพ ส่งเสริมให้เกิดการวิจัยและพัฒนาและการผลิตวัคซีนด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อให้ทุกประเทศสามารถเข้าถึงวัคซีนได้อย่างเท่าเทียมกัน และสามารถรับมือกับการระบาดของโรคต่างๆ ที่จะมีในอนาคต ด้วยความร่วมมือกับรัฐบาลของสาธารณรัฐเกาหลี รัฐบาลของประเทศต่างๆ หน่วยกำกับดูแลด้านสาธารณสุข บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ผู้เชี่ยวชาญ และพนักงานของบริษัท SK bioscience มีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อส่งมอบวัคซีนที่มีคุณภาพ และยกระดับคุณภาพชีวิตของทุกคน
ความร่วมมือจากภาคส่วนต่างๆ ทั้งเทคโนโลยีในการผลิตจากบริษัท SK bioscience สถานที่และกระบวนการผลิตขององค์การเภสัชกรรม และการสนับสนุนจากหน่วยกำกับดูแลด้านสาธารณสุขของ ทั้ง 2 ประเทศ จะทำให้เกิดความร่วมมือที่แข็งแกร่ง และสามารถรับมือกับการระบาดของโรคต่างๆ ที่จะมีในอนาคต SK bioscience จะยืนหยัดในการสนับสนุนและผลักดันให้เกิดการพัฒนาด้านสาธารณสุขทั่วโลก SK bioscience มุ่งมั่น และสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือในระดับสากล โดยอาศัยศักยภาพด้านการวิจัยและพัฒนา และการผลิตที่เป็นสากล SK bioscience จะถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการวิจัยและพัฒนาและการผลิตให้กับประเทศที่มีรายได้น้อย หรือรายได้ปานกลาง ที่มีข้อจำกัดในการผลิตวัคซีน เพื่อให้ทุกประเทศสามารถเข้าถึงวัคซีนได้อย่างเท่าเทียมกัน SK bioscience กำลังอยู่ในระหว่างการหารือกับรัฐบาล และบริษัทท้องถิ่นในประเทศต่างๆ ทั้งในตะวันออกกลาง และ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อผลักดันให้เกิดความร่วมมือในระดับสากล
——————————–
ขอขอบคุณ/องค์การเภสัชกรรม/02 644 8856/4 กรกฎาคม 2566