Home > ข่าวสาร > ข่าวประชาสัมพันธ์ > ASEAN Consultation Meeting on the ASEAN Vaccine Security and Self-Reliance (AVSSR): Governance and Vaccine Information Sharing 2023
👁️ เข้าชม 4
สถาบันวัคซีนแห่งชาติ ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานเลขาธิการอาเซียน จัดการประชุมเครือข่ายความร่วมมือเพื่อความมั่นคงและการพึ่งพาตนเองด้านวัคซีนแห่งอาเซียน โดยมีวัตถุประสงค์ให้การประชุมในครั้งนี้เป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน รวมทั้ง การเตรียมตัวรองรับภัยสุขภาพใหม่ในอนาคตผ่านการสร้างเครือข่ายวัคซีนที่เข้มแข็ง ตั้งแต่ระดับต้นน้ำ การสร้างความร่วมมือเพื่อการวิจัยพัฒนาวัคซีน การจัดตั้งคลังสำรองวัคซีน และการจัดซื้อวัคซีนในระดับภูมิภาค เพื่อให้มีวัคซีนเพียงพอต่อความต้องการของอาเซียนทั้งในภาวะปกติและภาวะที่มีการระบาด อันเป็นไปตามปฏิญญาผู้นำอาเซียนว่าด้วยความมั่นคงด้านวัคซีน 2562 (2019)
สถาบันวัคซีนแห่งชาติ ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานเลขาธิการอาเซียน จัดการประชุม ASEAN Consultation Meeting on the ASEAN Vaccine Security and Self-Reliance (AVSSR): Governance and Vaccine Information Sharing ในระหว่างวันที่ 10-11 กรกฎาคม 2566 ณ โรงแรมมณเฑียร สุรวงศ์ กรุงเทพฯ โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมระดับผู้บริหารหน่วยงานจากหลายภาคส่วน อาทิ ผู้แทนกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน เจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการสาธารณสุขแห่งอาเซียน ผู้แทนสำนักงานเลขาธิการอาเซียน องค์การอนามัยโลก UNICEF CEPI สถาบันวัคซีนนานาชาติ (International Vaccine Institute: IVI)
นอกจากนี้ ยังได้รับเกียรติจากผู้แทนรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน นำโดย ฯพณฯ โหว เยี่ยน ฉีเอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำอาเซียน ซึ่งเข้าร่วมพิธีเปิดงานผ่านระบบออนไลน์ในฐานะผู้แทนสถานเอกอัคราชทูตจีนประจำอาเซียน และในฐานะผู้แทนรัฐบาลจีนในกรอบความร่วมมืออาเซียน-จีน ซึ่งเป็นผู้ให้การสนับสนุนหลักในการจัดงานในครั้งนี้ภายใต้กรอบอาเซียน-จีน ในการนี้การประชุมฯ ยังได้รับเกียรติจาก นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข, ฯพณฯ เอกภาพ พันธวงศ์ รองเลขาธิการอาเซียน และนพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติร่วมเปิดงานด้วย ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมการประชุมมีทั้งแบบ Onsite และ Online กว่า 80 คน
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ประเทศไทย โดยสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ได้ผลักดันแนวคิดการสร้างความมั่นคงด้านวัคซีนให้เข้าสู่เวทีสากลมาตั้งแต่ปี 2557 ด้วยรัฐบาลไทย ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของวัคซีนต่อชีวิตของประชาชนชาวไทยและอาเซียน จึงได้ระดมเครือข่ายด้านวัคซีน จัดการประชุมเพื่อพัฒนาความร่วมมือในระดับอาเซียนอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา เท่ากับว่าการประชุมครั้งนี้ถือเป็น ครั้งที่ 6 แล้ว สถาบันฯ ในฐานะหน่วยงานกลางด้านวัคซีนของไทยและอาเซียน ได้ผลักดันนโยบายวัคซีนของประเทศ จนยกระดับเป็นนโยบายระดับภูมิภาคเป็นครั้งแรกในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 35 ณ กรุงเทพมหานคร จนกระทั่งประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ให้การรับรองและประกาศให้ปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการสร้างความมั่นคง และการพึ่งพาตนเองด้านวัคซีน เป็นนโยบายหลักด้านสุขภาพในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งทุกประเทศได้ยึดถือปฏิบัติ และดำเนินการให้เกิดรูปธรรมภายในปี พ.ศ. 2568 เพื่อให้เกิดความมั่นคงด้านวัคซีน คือ มีวัคซีนที่จำเป็นใช้อย่างเพียงพอ ทั้งในสถานการณ์ปกติ และสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยสาระสำคัญประการหนึ่งภายใต้ปฏิญญาฯ คือ การให้ประเทศสมาชิกร่วมกันพัฒนาแผนยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการอาเซียน และยึดถือให้แผนดังกล่าวเป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนความมั่นคงในอาเซียนต่อไป และที่สำคัญ ด้วยประเทศไทยและอาเซียนมีความสัมพันธ์อันดีกับประเทศจีนมาอย่างดียิ่งผ่านกรอบความร่วมมืออาเซียน-จีน และรัฐบาลจีนมีแนวคิดสนับสนุนการทำงานในทุกมิติของประเทศไทยและอาเซียน พร้อมทั้งให้ความร่วมมือที่ดีมาโดยตลอด จุดนี้เองที่ทำให้ความสำคัญของภารกิจด้านวัคซีนของไทย ก้าวไกลไปสู่ระดับโลกพร้อมกับมิตรประเทศได้อย่างเข้มแข็งและต่อเนื่อง
ด้าน นพ. นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวถึง การดำเนินงานของสถาบันวัคซีนแห่งชาติในฐานะหน่วยงานกลางด้านวัคซีนของประเทศว่า สถาบันได้พัฒนาความร่วมมือกับหน่วยงานเครือข่ายต่างประเทศ ทั้งภาครัฐและเอกชน ในหลายภูมิภาคทั่วโลก เพื่อให้เกิดการยกระดับศักยภาพด้านการวิจัยพัฒนาวัคซีนของประเทศให้อยู่ในระดับมาตรฐานสากล สำหรับการประชุม ASEAN Consultation Meeting on the ASEAN Vaccine Security and Self-Reliance (AVSSR): Governance and Vaccine Information Sharing จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 6 แล้ว โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อผลักดันให้เกิดการดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการเพื่อสร้างความมั่นคงและการพึ่งพาตนเองด้านวัคซีนในอาเซียน พ.ศ. 2564 – 2568 อย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะการสร้างความร่วมมือกับสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการผลักดันการสร้างเครือข่ายวัคซีนอาเซียน-นานาชาติ ในระดับอุตสาหกรรม และการสำรวจข้อมูลพื้นฐานด้านวัคซีนของไทยและอาเซียน ในระยะหลังโควิด 19 เพื่อใช้เป็นแหล่งข้อมูลสำคัญในการวิเคราะห์ช่องว่าง และกำหนดแผนที่ทางเดินสู่ความมั่นคงและการพึ่งพาตนเองด้านวัคซีนในอาเซียน รวมถึงเป็นการพัฒนาและจัดทำกรอบการดำเนินงานเฉพาะร่วมกันระหว่างหน่วยงานในประเทศ กับผู้ผลิตวัคซีนจากต่างประเทศ หรือองค์กรระดับนานาชาติในการรับถ่ายทอดเทคโนโลยีวัคซีนที่มีแนวโน้มประสบความสำเร็จสูง อาทิ HPV, MERS, Dengue รวมถึง ให้มีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ แลกเปลี่ยนผู้เชี่ยวชาญและบุคลากรด้านวัคซีน หรือส่งต่อนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาศักยภาพด้านวัคซีนของประเทศในกลุ่มอาเซียน
นพ. นคร กล่าวทิ้งท้ายว่า “ผลสัมฤทธิ์ของการประชุมครั้งนี้ จะนำไปสู่การที่อาเซียนจะมีระบบบริหารจัดการวัคซีนที่ชัดเจน มีชุดข้อมูลส่วนกลางที่ผู้กำหนดนโยบายแต่ละประเทศสามารถเข้าถึงและใช้ประโชน์ได้ เพื่อการเตรียมความพร้อมในการรองรับภัยพิบัติทางสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นได้เสมอ และอาเซียนจะเห็นชอบให้มีคณะกรรมการขับคลื่อนงานวัคซีนระดับอาเซียนที่จะช่วยผลักดันนโยบายสำคัญ อาทิ การจัดซื้อวัคซีนในราคาที่เข้าถึงได้ การจัดตั้งคลังสำรองวัคซีนอาเซียน และการพัฒนาบุคลากรด้านวัคซีนของภูมิภาค ทั้งนี้ การระบาดของโควิด 19 ได้ทดสอบความพร้อมของอาเซียนแล้ว เราผ่านวิกฤติระดับโลกมาแล้ว และแม้ว่าการเดินคนเดียวอาจจะทำให้เราเดินได้ไว แต่ถ้าเราเดินด้วยกันเป็นทีมอาเซียน พร้อมกับมิตรประเทศ อย่าง จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น เราจะเดินได้ไกลกว่า และมั่นคงยิ่งกว่าเดิม นำไปสู่การสนับสนุนและผลักดันให้เกิดความมั่นคงและการพึ่งพาตนเองด้านวัคซีนในภูมิภาคอาเซียน อย่างยั่งยืนในระยะยาวต่อไป”
ที่มา: สถาบันวัคซีนแห่งชาติ
วันที่: 10/7/66