12 ตุลาคม 2023

สวช. ร่วมเสวนาภายใต้แนวคิด ก้าวที่มั่นคงของสุขภาพคนไทยด้วย ววน. พร้อมอัปเดตความก้าวหน้าวัคซีนโควิด 19 ของไทย 1 ชนิดได้รับทะเบียนจาก อย. แล้ว พร้อมฉีดเป็นเข็มกระตุ้นให้กับคนไทย

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) พร้อมด้วย สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) และ 9 หน่วยบริหารและจัดการทุน (Program Management Unit : PMU) จัดงานนิทรรศการแสดงผลงานวิจัยของหน่วยงานในระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) และเสวนา Policy Forum เพื่อสนับสนุนการทำงานในกระบวนการนิติบัญญัติ ให้สามารถนำองค์ความรู้ด้าน ววน. ไปใช้ประโยชน์ในการขับเคลื่อนและขยายผลการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ พร้อมหารือถึงแนวทางในการกำหนดทิศทางก้าวต่อไปของประเทศสู่การขับเคลื่อนไทยด้วย ววน. ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน ระหว่างวันที่ 3 – 4 ตุลาคม 2566 ณ อาคารรัฐสภา เกียกกาย โดยสถาบันวัคซีนแห่งชาติได้ร่วมเสวนาภายใต้แนวคิด ก้าวที่มั่นคงของสุขภาพคนไทยด้วย ววน. พร้อมแจ้งความก้าวหน้าวัคซีนโควิด 19 ของไทย คือ วัคซีน HXP-GPOVac ขององค์การเภสัชกรรม ได้รับอนุมัติทะเบียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาแล้ว เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2566

วันที่ 4 ตุลาคม 2566 ที่อาคารรัฐสภา  เกียกกาย กรุงเทพฯ นายแพทย์นคร  เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ร่วมกิจกรรมงานแสดงนิทรรศการผลงานวิจัยของหน่วยงานในระบบ วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม และ Policy Forum เพื่อสนับสนุนงานในกระบวนการนิติบัญญัติ โดยได้ร่วมเสวนาภายใต้แนวคิด ก้าวที่มั่นคงของสุขภาพคนไทยด้วย ววน. ซึ่งมีหัวข้อหลักคือ ระบบสุขภาพเพื่อสร้างสุขภาวะที่ดีของคนไทย และผลงานวิจัยนวัตกรรมสู่การใช้จริงภายใต้มาตรฐานสากล ร่วมกับ ผศ.ดร.จรวยพร  ศรีศศลักษณ์ ผู้จัดการงานวิจัยอาวุโส สถาบันวิจัยระบบสุขภาพ (สวรส.), ศ.ดร.ศันสนีย์  ไชยโรจน์ ประธานอนุกรรมการแผนงานกลุ่มสุขภาพและการแพทย์  หน่วยบริหารจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) และ รศ.ดร.บุญรัตน์ โลห์วงศ์วัฒน คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

นายแพทย์นคร กล่าวถึงประเด็นวัคซีนโควิด 19 เพื่อความมั่นคงทางสุขภาพของคนไทยว่า ความมั่นคงด้านวัคซีน คือการมีวัคซีนใช้อย่างเพียงพอ ทันเวลา ทั้งในภาวะปกติและภาวะฉุกเฉิน ภาวะปกติ หมายถึง การมีวัคซีนที่เพียงพอตามแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค และปัจจัยที่ทำให้มีเพียงพออยู่ตลอดและสามารถเข้าถึงได้ คือ กระบวนการจัดการระบบวัคซีนภายในของประเทศ ส่วนในสถานการณ์การระบาดของโควิด 19 ที่ผ่านมา คือ ภาวะฉุกเฉิน สิ่งที่เราจะต้องดำเนินการทำให้เราสามารถเข้าถึงวัคซีนได้เร็วที่สุดซึ่งเป็นการดำเนินการให้

บรรลุเป้าหมายภายใต้พระราชบัญญัติความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ คือ สถาบันวัคซีนแห่งชาติ มีหน้าที่สร้างคน สร้างเครือข่าย สร้างศักยภาพ โดยองค์ประกอบสำคัญ 2 ส่วน ได้แก่ แผนยุทธศาสตร์ ววน. ทุนวิจัยพัฒนาวัคซีนอย่างครบวงจร และนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงด้านวัคซีนของประเทศ ซึ่งอ้างอิงแผนสภาพัฒน์ของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นแผนของมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพราะฉะนั้นแผนยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงด้านวัคซีนของประเทศที่เราใช้ คือ ปี 2566-2570 ซึ่งหน่วยงานทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับวัคซีนได้ทำงานร่วมกัน ในช่วงโควิด 19 ที่ผ่านมา สถาบันวัคซีนแห่งชาติยังไม่ได้เป็นหน่วยงานบริหารและจัดการทุนวิจัย (PMU) เช่น สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และ บพข. แต่ได้ดำเนินการร่วมกันกับ PMU อื่น จนกระทั่งสร้างศักยภาพด้านวัคซีนของประเทศ โดยมี 4 Platform ประกอบด้วย Viral Vector, Nucleic acid (mRNA และDNA), Inactivated และ Subunit Protein โดยประเทศไทยได้สร้างศักยภาพการวิจัยพัฒนาวัคซีนตั้งแต่ระดับต้นน้ำ โดยมีเป้าหมายคือการพึ่งพาตนเองได้ในช่วงเวลาที่ประเทศต้องการ และในวงจรทั้งหมดสิ่งที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ โครงสร้างพื้นฐาน ทั้งในเรื่องของสถานสัตว์ทดลองทั้งสัตว์ใหญ่ (ลิง) และสัตว์เล็ก (หนู,กระต่าย) ที่เราได้พัฒนาให้ได้มาตฐาน OECD GLP อีกส่วนคือ โรงงานผลิตวัคซีนต้นแบบ ที่มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรี บางขุนเทียน   เพราะถ้าเราไม่มีการพัฒนาโรงงานต้นแบบ เราจะไม่สามารถทดสอบวัคซีนในมนุษย์ได้ นอกจากนี้ยังมีโรงงานผลิตวัคซีน ทั้งบริษัท โกลบอล ไบโอเทค โปรดักส์ จำกัด หน่วยงานต่าง ๆ ทั้ง สวทช. หรือ สยามไบโอไซน์ คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่พัฒนาวัคซีน mRNA กับ บริษัทไบโอเนท เอเชีย จำกัด บริษัทใบยาไฟโตฟาร์ม ที่พัฒนา Subunit protein รวมทั้งทีมวิจัยทางด้านคลินิกต่างๆ นับเป็นศักยภาพด้านการพัฒนาวัคซีนของประเทศ วงจรการพัฒนาวัคซีนมีตั้งแต่ต้นน้ำ และเชื่อมโยงกันทุกส่วน และอีกส่วนที่มาจะเสริมให้แข็งแรงมากขึ้น คือ การร่วมมือกันกับต่างประเทศ ที่จะเป็นช่องทางที่ทำให้เราขับเคลื่อนได้เร็วขึ้น

นายแพทย์นคร ได้นำเสนอความก้าวหน้าของการวิจัยพัฒนาวัคซีนโควิด 19 ของประเทศว่า ขณะนี้มีวัคซีน 1 ชนิด ได้รับอนุมัติทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาเรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา คือ วัคซีน HXP-GPOVac ขององค์การเภสัชกรรม ซึ่งได้รับความร่วมมือกับหน่วยงานหลายภาคส่วนทั้งในและต่างประเทศ เป็นการนำเชื้อตั้งต้นมาพัฒนาวัคซีนตั้งแต่ระยะแรกของการระบาดของโรคโควิด 19 โดยใช้เทคโนโลยีไข่ไก่ฟัก ซึ่งเป็นเทคโนโลยีเดียวกันกับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ที่องค์การเภสัชกรรมมีศักยภาพอยู่เดิม ดำเนินการผลิตที่โรงงานผลิต(วัคซีน) ชีววัตถุ จ.สระบุรี ซึ่งนับเป็นก้าวสำคัญของการวิจัยพัฒนาวัคซีนของประเทศไทย

และในช่วงท้ายได้ร่วมเสวนาในหัวข้อ การกำหนดนโยบายและทิศทางสำคัญต่อการผลักดันระบบสุขภาพและการแพทย์ของประเทศ ร่วมกับรศ.นพ.ถนอม บรรณประเสริฐ รองประธานคณะอนุกรรมการ แผนงานกลุ่มสุขภาพและการแพทย์ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.), นพ.ศุภกิจ  ศิริลักษณ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) และดร.จิตติ์พร ธรรมจินดาผู้อำนวยการ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) TCELS

 

ทั้งนี้ท่านสามารถรับชมการเสวนาย้อนหลังได้ทาง Facebook หอสมุดรัฐสภา

https://www.facebook.com/watch/live/?ref=watch_permalink&v=652328143428945

ที่มา: สถาบันวัคซีนแห่งชาติ

วันที่: 12/10/66