24 มิถุนายน 2024

สวช. ร่วมกับเครือข่าย จัดเสวนาประเทศไทยกับการสร้างความเข้มแข็งด้านวัคซีนเพื่อรับมือกับโรคอุบัติใหม่

     สถาบันวัคซีนแห่งชาติ ร่วมกับหน่วยงานเครือข่ายด้านวัคซีน ทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน จัดการเสวนาวิชาการ หัวข้อ “ประเทศไทยกับการสร้างความเข้มแข็งด้านวัคซีนเพื่อรับมือกับโรคอุบัติใหม่” (Thailand’s Vaccine Capabilities: Strategies for Emerging Disease Preparedness)” เพื่อเตรียมรับมือกับสถานการณ์การระบาดของโรคอุบัติใหม่และอุบัติซ้ำในประเทศ ในการประชุมวิชาการป้องกันควบคุมโรคและภัยสุขภาพ ประจำปี 2567 จัดโดยกรมควบคุมโรค

            เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2567 ที่ศูนย์การประชุมอิมแพค ฟอรั่ม เมืองทองธานี สถาบันวัคซีนแห่งชาติ ร่วมกับหน่วยงานเครือข่ายด้านวัคซีน ทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน จัดการเสวนาวิชาการ หัวข้อ “ประเทศไทยกับการสร้างความเข้มแข็งด้านวัคซีนเพื่อรับมือกับโรคอุบัติใหม่” (Thailand’s Vaccine Capabilities: Strategies for Emerging Disease Preparedness)” ในการประชุมวิชาการป้องกันควบคุมโรคและภัยสุขภาพ ประจำปี 2567 ของกรมควบคุมโรค โดยมีผู้เชี่ยวชาญด้านวัคซีนร่วมบรรยาย ได้แก่ ศ.ดร.นพ.ประเสริฐ เอื้อวรากุล ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล, คุณวิฑูรย์ วงศ์หาญกุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัทไบโอเนท-เอเชีย จำกัด, ภก.บุญรักษ์ ถาวรรุ่งโรจน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทโกลโบล ไบโอเทค จำกัด, ดร.ภญ.พรทิพย์ วิรัชวงศ์ ผู้จัดการโรงงานวัคซีนและชีววัตถุ องค์การเภสัชกรรม, นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ และพญ.สุเนตร ชื่นกิจมงคล รองผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ โดยมีผู้เข้ารับฟังการเสวนากว่า 130 คน

             การเสวนาดังกล่าว ได้มีการนำเสนอบทเรียนจากสถานการณ์โรคโควิด 19 ที่ผ่านมา รวมถึงกลไกสำคัญ เพื่อนำมาปรับใช้ในการเตรียมความพร้อมของด้านโครงสร้างพื้นฐาน ด้านงบประมาณ และด้านบุคลากร ให้มีความรู้ความเชี่ยวชาญ และส่วนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องตลอดทั้งวงจรวัคซีน ในการดำเนินการวิจัยพัฒนาวัคซีน เพื่อรับมือกับสถานการณ์การระบาดของโรคอุบัติใหม่และอุบัติซ้ำ รวมถึงการผลิตวัคซีนได้เองภายในประเทศ ด้วยการสร้างความเข้มแข็งของการวิจัยและพัฒนา และการมีโครงสร้างพื้นฐาน และ technology platform ที่พร้อมรองรับการสร้างวัคซีนใหม่ การสร้างและพัฒนาขีดความสามารถของบุคลากร ด้านวัคซีน รวมถึงการแสวงหาความร่วมมือจากต่างประเทศ ทั้งนี้ ความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชน นับเป็นสิ่งสำคัญที่จะขับเคลื่อนให้ประเทศมีความมั่นคงด้านสุขภาพต่อไปในอนาคต

 

ที่มา: สำนักสื่อสารองค์กรและวิเทศสัมพันธ์ สถาบันวัคซีนแห่งชาติ


วันที่: 24 มิ.ย. 67