สวช. ร่วมกับเครือข่าย รัฐ-เอกชน จัดเวทีเสวนา “วัคซีนกับการรับมือโรคอุบัติใหม่” ในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ ประจำปี 2567

Home   >   ข่าวสาร   >   ข่าวประชาสัมพันธ์   >   สวช. ร่วมกับเครือข่าย รัฐ-เอกชน จัดเวทีเสวนา “วัคซีนกับการรับมือโรคอุบัติใหม่” ในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ ประจำปี 2567

👁️ เข้าชม 3

สถาบันวัคซีนแห่งชาติ ร่วมกับหน่วยงานเครือข่ายด้านวัคซีน ทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน จัดการเสวนาวิชาการ หัวข้อ “วัคซีนกับการรับมือโรคอุบัติใหม่” เพื่อเตรียมรับมือกับสถานการณ์การระบาดของโรคอุบัติใหม่ และโรคอุบัติซ้ำในประเทศ ในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ ประจำปี 2567 Thailand Research Expo 2024 จัดโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2567 ที่ผ่านมา ที่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเทอร์ เซ็นทรัลเวลิด์ กรุงเทพมหานคร สถาบันวัคซีนแห่งชาติ ร่วมกับหน่วยงานเครือข่ายด้านวัคซีน ทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน จัดการเสวนาวิชาการ หัวข้อ “วัคซีนกับการรับมือโรคอุบัติใหม่” ในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ ประจำปี 2567 โดยมีผู้เชี่ยวชาญด้านวัคซีนร่วมบรรยาย ได้แก่ ศ.นพ. เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผู้อำนวยการโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด 19 ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, คุณวิฑูรย์ วงศ์หาญกุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัทไบโอเนท-เอเชีย จำกัด, ภก.บุญรักษ์ ถาวรรุ่งโรจน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทโกลโบล ไบโอเทค จำกัด, ดร.ภญ.พรทิพย์ วิรัชวงศ์ ผู้จัดการโรงงานวัคซีนและชีววัตถุ องค์การเภสัชกรรม และนพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ดำเนินรายการ

ภายในงานมีการเสวนา ในประเด็นการเตรียมความพร้อมในการสร้างศักยภาพของประเทศไทย เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการรับมือกับโรคอุบัติใหม่ หรือภาวะฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อให้สามารถตอบสนองต่อโรคอุบัติใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว ประกอบด้วย การสร้างศักยภาพตามแพลตฟอร์ม ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีเทคโนโลยีในการวิจัยพัฒนาวัคซีนชนิด mRNA ที่ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งสามารถต่อยอดพัฒนาเป็นวัคซีนใช้ในการรักษาโรคได้ และมีกระบวนการในการพัฒนาได้ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงการผลิตที่บริษัท ไบโอเนท-เอเชีย จำกัด รวมถึงเทคโนโลยีไข่ไก่ฟักที่สามารถผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ และวัคซีนโควิด 19 ได้ โดยองค์การเภสัชกรรม ความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานและระบบสนับสนุนการดำเนินงานด้านวัคซีนอย่างครบวงจร เช่น ศูนย์วิจัยวัคซีนในห้องปฏิบัติการ ศูนย์ทดสอบวัคซีนในสัตว์ทดลอง โรงงานผลิตวัคซีนระดับกึ่งอุตสาหกรรม โรงงานแบ่งบรรจุวัคซีนของบริษัท โกลบอล ไบโอเทค โปรดักส์ จำกัด ศูนย์วิจัยทางคลินิก และหน่วยงานควบคุมกำกับ นอกจากนี้ยังมีการเตรียมความพร้อมของการรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิต ซึ่งมีหน่วยรับถ่ายทอดเทคโนโลยีที่มีศักยภาพและมีบุคลากรที่มีสมรรถนะ รวมทั้งการสร้างเครือข่ายทั้งในและต่างประเทศ สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ การที่สถาบันวัคซีนแห่งชาติมีทุนสนับสนุนการวิจัยพัฒนาวัคซีนที่จะทำให้ประเทศสามารถขับเคลื่อนงานต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพและสัมฤทธิ์ผล ทั้งนี้ผู้ร่วมเสวนายังให้ข้อเสนอแนะถึงแนวทางในการวิจัยพัฒนาวัคซีนว่า งานวิจัยพัฒนาวัคซีนต้องใช้ความรู้ความชำนาญเป็นการเฉพาะ ซึ่งการสร้างบุคลากรเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง ทั้งนี้การมีทีมนักวิจัยที่เข้มแข็ง และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จะทำให้ประเทศเดินหน้าสู่ความมั่นคงด้านวัคซีนที่สามารถพึ่งพาตัวเองได้ ซึ่งจะเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างภูมิคุ้มกันโรคที่ยั่งยืน

ที่มา: สำนักสื่อสารองค์กรและวิเทศสัมพันธ์ สถาบันวัคซีนแห่งชาติ

วันที่: 4 ก.ย. 67