คกก. วัคซีนแห่งชาติ เห็นชอบในหลักการ การสร้างความร่วมมือการผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ด้วยเทคโนโลยีเซลล์เพาะเลี้ยงในระดับอุตสาหกรรม เพื่อความมั่นคงด้านสาธารณสุขของประเทศและภูมิภาค และพร้อมสนับสนุนการผลิตวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกชนิด 9 สายพันธุ์ทั้งกระบวนการจนกระทั่งได้ผลิตภัณฑ์และนำไปสู่การใช้ในกลุ่มเป้าหมายในประเทศอย่างครอบคลุม

Home   >   ข่าวสาร   >   ความเคลื่อนไหวนโยบายวัคซีน   >   คกก. วัคซีนแห่งชาติ เห็นชอบในหลักการ การสร้างความร่วมมือการผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ด้วยเทคโนโลยีเซลล์เพาะเลี้ยงในระดับอุตสาหกรรม เพื่อความมั่นคงด้านสาธารณสุขของประเทศและภูมิภาค และพร้อมสนับสนุนการผลิตวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกชนิด 9 สายพันธุ์ทั้งกระบวนการจนกระทั่งได้ผลิตภัณฑ์และนำไปสู่การใช้ในกลุ่มเป้าหมายในประเทศอย่างครอบคลุม

👁️ เข้าชม 76

รองนายกประเสริฐ ร่วมการประชุมคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ ครั้งแรก!! พร้อมสนับสนุนการพัฒนางานวัคซีนทุกด้าน สำหรับการสร้างความร่วมมือการผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ด้วยเทคโนโลยีเซลล์เพาะเลี้ยงในระดับอุตสาหกรรม เพื่อความมั่นคงด้านสาธารณสุขของประเทศและภูมิภาค รวมถึงการผลิตวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกชนิด 9 สายพันธุ์ พร้อมผลักดันการดำเนินงานในทุกมิติจนกระทั่งได้ผลิตภัณฑ์และนำไปสู่การใช้ในกลุ่มเป้าหมายในประเทศ เพื่อการพึ่งพาตนเองด้านวัคซีน

วันที่ 28 ตุลาคม 2567 ที่ห้องประชุม 801 อาคารสำนักงานใหญ่ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) ถ.แจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2567 พร้อมด้วยนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นรองประธาน โดยมีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเข้าร่วมทั้งในที่ประชุมและรูปแบบออนไลน์

.

รองนายกประเสริฐ กล่าวว่า การประชุมคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2567 นี้ มีวาระเพื่อพิจารณา จำนวน 2 เรื่อง คือ การสร้างความร่วมมือการผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ด้วยเทคโนโลยีเซลล์เพาะเลี้ยงในระดับอุตสาหกรรม เพื่อความมั่นคงด้านสาธารณสุขของประเทศและภูมิภาค ซึ่งการผลิตวัคซีนได้เองในประเทศ เป็นการเตรียมความพร้อมต่อการรองรับการระบาดของโรคอุบัติใหม่และอุบัติซ้ำได้ในอนาคต ทั้งนี้ประเทศไทยมีความจำเป็นต้องยกระดับเทคโนโลยีการผลิต และวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลด้วยเทคโนโลยี เซลล์เพาะเลี้ยง (Cell based technology) ซึ่งใช้เวลาในการผลิตน้อยกว่าการผลิตด้วยเทคโนโลยีไข่ไก่ฟัก ซึ่งเป็นเทคโนโลยีดั้งเดิมที่พัฒนาโดยองค์การเภสัชกรรม พร้อมกันนี้การรับถ่ายทอดเทคโนโลยีใหม่จากต่างประเทศ จะส่งผลให้เกิดความสัมพันธ์อันดีในการส่งเสริมศักยภาพและความร่วมมือด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ที่ประชุมได้เห็นชอบในหลักการ รวมทั้งสนับสนุนการดำเนินงานในด้านการสร้างความร่วมมือ ทั้งกระบวนการผลิตจนกระทั่งได้ผลิตภัณฑ์และนำไปสู่การใช้ในประชาชนกลุ่มเป้าหมาย และในการเตรียมความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งหากมีความจำเป็นด้านงบประมาณเพิ่มเติม ได้มอบหมายให้ นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ในฐานะเลขานุการของคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบต่อไป และวาระเพื่อพิจารณา เรื่องที่ 2 คือ การสนับสนุนความร่วมมือการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก (Human Papilloma Virus: HPV) ชนิด 9 สายพันธุ์ เพื่อความมั่นคงด้านวัคซีนของประเทศ จากการที่ประเทศไทยและทั่วโลก เกิดสถานการณ์การขาดคราวของวัคซีน HPV ทำให้ประเทศไทย ได้มีการปรับรูปแบบความร่วมมือใหม่ ซึ่งก็คือ การถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตวัคซีน HPV ชนิด 9 สายพันธุ์ จาก บริษัท INNOVAX ด้วยการทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง 3 ฝ่าย ได้แก่ บริษัท INNOVAX สถาบันวัคซีนแห่งชาติ และ บริษัทโกลบอลไบโอเทค จำกัด (GPO-MBP) โดยเริ่มมีการถ่ายทอดเทคโนโลยี เมื่อเดือนสิงหาคม 2567 ที่ผ่านมา และคาดว่าจะเสร็จสิ้นกระบวนการถ่ายทอดเทคโนโลยี และการผลิตวัคซีน จนไปถึงการขึ้นทะเบียนวัคซีนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้ภายในปี 2570 ทั้งนี้ที่ประชุมได้เห็นชอบในหลักการการสนับสนุนความร่วมการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตวัคซีน HPV ชนิด 9 สายพันธุ์ พร้อมสนับสนุนการดำเนินงาน ทั้งกระบวนการจนกระทั่งได้ผลิตภัณฑ์ และนำไปสู่การใช้ในกลุ่มเป้าหมายได้อย่างครอบคลุมและมีประสิทธิภาพ

.

ด้านนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะรองประธาน กล่าวเสริมว่า สำหรับการประชุมในวันนี้ มีวาระการประชุมทั้งหมด 6 เรื่อง โดยเรื่องเพื่อทราบ มีจำนวน 4 เรื่อง ประกอบด้วย สรุปผลการดำเนินงานด้านวัคซีนของประเทศ, สรุปผลการดำเนินงานการนำร่องการสนับสนุนการดำเนินงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในการจัดซื้อจัดหาวัคซีนและแผนการขยายผลสู่ อปท. อื่น ๆ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2565-2567, สรุปผลการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค และผลการดำเนินงานควบคุมและป้องกันโรคที่ป้องกันด้วยวัคซีน


วันที่ 28 ต.ค. 67
ที่มา: สถาบันวัคซีนแห่งชาติ