Home > ข่าวสาร > กิจกรรมสถาบันและเครือข่าย > สวช. เปิดเวทีปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ ความพร้อมของประเทศไทยกับการรับมือโรคอุบัติใหม่และอุบัติซ้ำ ในการประชุมวิชาการวัคซีนแห่งชาติครั้งที่ 11
👁️ เข้าชม 9
สถาบันวัคซีนแห่งชาติจัดการประชุมวิชาการวัคซีนแห่งชาติ ครั้งที่ 11 ภายใต้แนวคิด “วัคซีนภายใต้บริบทโลกไร้พรมแดน” เมื่อวันที่ 13-15 พฤศจิกายน 2567 ณ โรงแรม เดอะเบอร์เคลีย์ ประตูน้ำ ที่ผ่านมา โดยมุ่งเน้นการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้
และประสบการณ์ ของหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ตลอดจนเครือข่ายพันธมิตร ทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งเผยแพร่ความรู้ ความก้าวหน้าทางวิชาการ นโยบาย และทิศทางการดำเนินงานด้านวัคซีน ทั้งด้านการวิจัยพัฒนา การผลิต การประกันและควบคุมคุณภาพ และการบริหารจัดการในการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค
.
หนึ่งในไฮไลท์ของการประชุมครั้งนี้คือ การปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “ความพร้อมของประเทศไทยกับการรับมือโรคอุบัติใหม่และอุบัติซ้ำ” โดยได้รับเกียรติจาก ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยสกล สกลสัตยาทร นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นองค์ปาฐก พร้อมทั้งนำเสนอถึงบทเรียนสำคัญจากสถานการณ์การระบาดของโควิด19 ที่ผ่านมา และประเทศไทยได้ถอดบททเรียนสำคัญที่นำมาสู่การพัฒนาศักยภาพของระบบสาธารณสุขในการรับมือโรคระบาดในอนาคต โดย ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยสกล ได้เน้นย้ำถึงการมีแผนระยะยาวที่ครอบคลุมแผนการเสริมสร้างความมั่นคงทางวัคซีนและการวิจัยพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแผนระยะ 100 วัน เพื่อให้สามารถพัฒนาวัคซีนใหม่ภายในเวลาที่รวดเร็วหากเกิดโรคอุบัติใหม่
.
นอกจากนี้ ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยสกล ได้กล่าวถึงความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานของประเทศในปัจจุบันว่า ขณะนี้ประเทศไทยเรามีศักยภาพที่ครบวงจรอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ได้แก่ ศูนย์วิจัยวัคซีนในห้องปฏิบัติการ ศูนย์ทดสอบวัคซีนในสัตว์ทดลอง โรงงานผลิตวัคซีนระดับกึ่งอุตสาหกรรม ศูนย์วิจัยทางคลินิก และหน่วยงานควบคุมกำกับ และทุนพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านวัคซีนแก่สถาบันการศึกษา หน่วยงานวิจัย และผู้ผลิต
.
ในช่วงท้ายของการปาฐกถา ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยสกล ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการทำงานร่วมกันในกระบวนการวิจัยและพัฒนาวัคซีน ตั้งแต่ขั้นตอนต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ เป็นงานที่ไม่สามารถทำได้โดยลำพัง ต้องอาศัยการสนับสนุนและความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ทั้งจากภาครัฐ องค์กรเอกชน และหน่วยงานเครือข่าย ทั้งในระดับประเทศและระดับสากล เพื่อให้มั่นใจว่ากระบวนการทั้งหมดจะดำเนินไปอย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ท่านยังชี้ให้เห็นว่า ความร่วมมือระหว่างประเทศเป็นหัวใจสำคัญในการสร้างความมั่นคงทางสุขภาพในระยะยาว
ที่มา: สถาบันวัคซีนแห่งชาติ
วันที่: 6 ธ.ค. 67