สวช. ร่วมกับ อสมท และภาคีเครือข่าย แถลงข่าวโครงการ “นักสืบสายชัวร์ 404: ถอดสลักกับดักไซเบอร์”

Home   >   ข่าวสาร   >   ข่าวประชาสัมพันธ์   >   สวช. ร่วมกับ อสมท และภาคีเครือข่าย แถลงข่าวโครงการ “นักสืบสายชัวร์ 404: ถอดสลักกับดักไซเบอร์”

👁️ เข้าชม 0

บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ร่วมกับภาคีเครือข่ายด้านการสื่อสารทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคการศึกษา แถลงข่าวเพื่อเตรียมความพร้อมจัดโครงการนักสืบสายชัวร์ 404 : ถอดสลักกับดักไซเบอร์ เพื่อส่งเสริมความรู้เท่าทันข้อมูลข่าวสารด้านสุขภาพ ข่าวลวงและภัยไซเบอร์ และเสริมสร้างความตระหนักรู้ ทักษะในการตรวจจับภัยออนไลน์ ให้แก่กลุ่มเยาวชน ครู ผู้สูงวัยและประชาชนทั่วไป รวมทั้งผลิตสื่อสำหรับสร้างความตระหนักรู้ด้านความรู้เท่าทันข่าวลวง ข้อมูลเท็จภัยไซเบอร์และกลลวงมิจฉาชีพ ไปยังประชาชนที่มีความสนใจเฉพาะ พร้อมรับมือและเผชิญภัยไซเบอร์ ผ่านการอบรมเชิงปฏิบัติการและลงพื้นที่ให้ความรู้ผ่านนิทรรศการ กลุ่มเป้าหมาย 1,000 คน

.

 วันที่ 17 มกราคม 2568 ที่ห้องออดิทอเรียม ชั้น 6 อาคารปฏิบัติการวิทยุโทรทัศน์ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) คุณผาติยุทธ ใจสว่าง รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) เป็นประธานกล่าวเปิดการแถลงข่าว และที่มาและความสำคัญของการจัดโครงการ “นักสืบสายชัวร์ 404: ถอดสลักกับดักไซเบอร์” และ ดร.ธนกร ศรีสุกใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ แถลงนโยบายและความร่วมมือ ในการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ โดยมีภาคีเครือข่ายด้านการสื่อสารทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคการศึกษา ร่วมแถลงข่าว

.

ขณะที่คุณพีรพล อนุตรโสตถิ์ ผู้จัดการศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ อสมท ได้กล่าวถึงภาพรวมโครงการว่า โครงการนักสืบสายชัวร์ 404 : ถอดสลักกับดักไซเบอร์ เป็นโครงการที่มีประโยชน์ เปรียบเสมือนเป็นการสร้างวัคซีนให้กับคนไทยทุกคน โดยจะมุ่งเน้นไปที่การเสริมสร้าง ติดตั้งทักษะใหม่ในการสังเกต-เฝ้าระวัง-ตรวจจับ “กับดักทางไซเบอร์” ผ่านนวัตกรรมรูปแบบใหม่ทั้ง 3 ส่วน ดังนี้ 1. กิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการในรูปแบบลงพื้นที่ (On-site) และนิทรรศการชั่วคราวแบบมีส่วนร่วม (Interactive Exhibition) โดยจะมีการอบรมเชิงปฏิบัติการฯ มีกลุ่มเป้าหมายหลัก ได้แก่ นักเรียน คุณครูและประชาชนทั่วไป 5 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ ระยอง สิงห์บุรี สมุทรสาคร และนครนายก 2. กิจกรรมอบรมออนไลน์ คอร์สพื้นฐานการตรวจสอบข้อเท็จจริง : FCDA101 ฉบับปรับปรุง ซึ่งเป็นหลักสูตรที่เน้นพัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับการรู้เท่าทันสื่อ ข่าวปลอม ข้อมูลเท็จและความปลอดภัยทางไซเบอร์  และ 3. การผลิตและเผยแพร่เนื้อหาใหม่ผ่านสื่อโทรทัศน์และสื่อออนไลน์ทางสถานีโทรทัศน์ ช่อง 9 MCOT HD และเครือข่าย

.

ด้าน นพ. นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวว่า ข้อมูลสุขภาพที่บิดเบือน แม้จะไม่ได้ทำให้ประชาชนเสียทรัพย์สิน แต่อาจทำให้ประชาชนเสียโอกาสในการป้องกันโรค หรืออาจร้ายแรงที่สุดก็อาจถึงเสียชีวิตได้ ทั้งนี้การดำเนินการร่วมกันในครั้งนี้ ทุกฝ่ายมีความตั้งใจเป็นอย่างยิ่งที่จะให้ประชาชนหันมาให้ความสำคัญกับการรู้เท่าทันสื่อที่ได้รับการส่งต่อมา และไม่ตกเป็นเหยื่อของข้อมูลข่าวลวงอีกต่อไป

ที่มา: สถาบันวัคซีนแห่งชาติ

วันที่: 17/1/68