สถาบันวัคซีนแห่งชาติ ร่วมกับหน่วยงานเครือข่ายด้านวัคซีน จัดการเสวนาวิชาการ เพื่อเปิดเวทีแลกเปลี่ยนความรู้ และนำเสนอทิศทางการให้บริการด้านการทดสอบสัตว์ทดลอง ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาและประเมินความปลอดภัยของยาและวัคซีน ก่อนนำไปใช้ในมนุษย์
เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2568 ที่ผ่านมา ที่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพมหานคร สถาบันวัคซีนแห่งชาติ ร่วมกับหน่วยงานเครือข่ายด้านวัคซีน จัดการเสวนาวิชาการ ภายใต้หัวข้อ “ศักยภาพด้านสัตว์ทดลองของประเทศไทยกับก้าวต่อไปในการพัฒนายาและวัคซีน” ในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ ประจำปี 2568 (Thailand Research Expo 2025) จัดโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม การเสวนาในครั้งนี้ ได้รับเกียรติจากหน่วยงานหลักที่มาร่วมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์ อันเป็นการสะท้อนภาพความร่วมมือที่เกิดขึ้นจริง ทั้งด้านนโยบายที่ร่วมดำเนินการกับสถาบันวัคซีนแห่งชาติ และงานที่ดูแลด้านสัตว์ทดลองของประเทศ โดยมี นพ.นคร เปรมศรี เป็นผู้ดำเนินการอภิปราย
ภายในการเสวนา ได้มีการอภิปรายเรื่องภารกิจตลอดจนการดำเนินงานรวมไปถึงศักยภาพในการให้บริการของแต่ละหน่วยงาน โดยดร.อมร ประดับทอง ผู้จัดการโครงการอาวุโส ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ กล่าวถึงบทบาทของ TCELS ในช่วงเริ่มต้นว่าวัตถุประสงค์ของการก่อตั้ง คือ การสร้างระบบนิเวศ (ECO System ) เพื่อการทดสอบยา สมุนไพร และวัคซีนในประเทศ ให้ได้รับการยอมรับระดับสากลได้อย่างไร ปัจุบันจึงมีบทบาทสำคัญในการให้ทุน สนับสนุนการจัดตั้ง CMA (Compliance Monitoring Authority) และผลักดันให้ศูนย์ทดสอบผ่านการตรวจประเมิน ตามมาตรฐาน GLP จนได้รับการรับรอง ปัจจุบันไทยมี 7 ศูนย์ ที่ผ่านมาตรฐาน OECD GLP และสามารถนำผลทดสอบไปยื่นขึ้นทะเบียนในต่างประเทศได้ โดยมี สำนักวิทยาศาสตร์ห้องปฏิบัติการ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เป็นหน่วยงานหลักที่ดูแล
ขณะที่ ศ.ดร.สุจินดา มาลัยวิจิตรนนท์ ที่ปรึกษาศูนย์วิจัยไพรเมทแห่งชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ศูนย์สัตว์ทดลองมีศักยภาพโดยเฉพาะการวิจัยในระยะ พรีคลินิก (Preclinical Research) ซึ่งเป็นขั้นตอนสำคัญในการพัฒนายาและวัคซีน โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่มหลักคือ Basic Research ที่มุ่งสร้างองค์ความรู้ใหม่ และ Developmental Research ที่มุ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อขึ้นทะเบียนและเข้าสู่ตลาดจริงทั้งสองกลุ่มต้องการบุคลากร เครื่องมือ และมาตรฐานที่แตกต่างกัน โดย Developmental Research ต้องผ่านการรับรองมาตรฐานระดับสากล เช่น OECD GLP, AAALAC International, และ ISO 17025 และต้องมีกระบวนการที่สามารถยื่นข้อมูลทดสอบในระบบนานาชาติได้ อย่างไรก็ตาม ศ.ดร.สุจินดาได้เน้นย้ำถึงปัญหาเชิงระบบ เช่น ขาดแรงจูงใจในการต่อยอดงานวิจัยเชิงพาณิชย์ ขาดทักษะการเจรจาระดับนานาชาติ ขณะที่จุดแข็งของไทย
คือการมีศูนย์สัตว์ทดลองครบวงจร ทั้งสัตว์เล็กจนถึงลิง ซึ่งเหมาะกับการรับมือโรคอุบัติใหม่และการทดสอบวัคซีนในอนาคต ทั้งนี้ ในการขับเคลื่อนศูนย์สัตว์ทดลองให้เชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ชาติ จำเป็นต้องมีเครือข่ายการทำงานแบบครบวงจร, การสนับสนุนจากรัฐ, การบูรณาการกับแผนพัฒนาสาธารณสุขและเศรษฐกิจ รวมถึงการเตรียมความพร้อมหากประเทศไทยต้องการเข้าสู่การเป็น สมาชิก OECD อย่างเต็มรูปแบบ
รศ.ดร.น.สพ.วิทวัช วิริยะรัตน์ หัวหน้าศูนย์สัตวแพทย์ประจำสถานที่ดำเนินการต่อสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า ศูนย์สัตว์ทดลองแห่งชาติ คณะสัตวแพทยศาสตร์ ม.มหิดล มีความพร้อมรองรับการวิจัยและพัฒนายา-วัคซีน โดยเฉพาะในระดับ Proof of Concept สำหรับการศึกษาทางคลินิก โดยเริ่มจากความต้องการในช่วงการระบาดของไข้หวัดนก และขยายต่อเนื่องมาถึงโรคอุบัติใหม่อื่น ๆ ทั้งนี้ศูนย์ฯ ให้บริการทดสอบในสัตว์ทดลองขนาดเล็ก เช่น หนู แฮมสเตอร์ กระต่าย ครอบคลุมทั้งงานวิจัยพื้นฐานและต่อยอดสู่การใช้จริงทางคลินิก พร้อมพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อรองรับสถานการณ์โรคระบาด อย่างไรก็ตาม ยังมีความท้าทายด้านบุคลากรเฉพาะทางที่ขาดแคลน และปัญหาการจัดหา Animal Models บางชนิดที่ยังต้องพึ่งพาการนำเข้า เพื่อแก้โจทย์นี้ ศูนย์ฯ เตรียมพัฒนาระบบเพาะพันธุ์และผลิตสายพันธุ์สัตว์ทดลองในประเทศ ด้วยเทคโนโลยีจากญี่ปุ่น พร้อมขยายขีดความสามารถด้าน Eco-toxicology เพื่อรองรับการวิจัยด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพในภาพรวม ต่อยอดสู่ระบบวิจัยที่แข็งแกร่งของประเทศ
รศ.ดร.วัลลภา ประเสริฐศรี หัวหน้างานบริการเทคนิคเฉพาะทาง ศูนย์สัตว์ทดลองการวิจัย มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวถึงศักยภาพของศูนย์สัตว์ทดลองเพื่อการวิจัย มหาวิทยาลัยนเรศวร ซึ่งดำเนินงานมากว่า 14 ปี โดยได้รับการรับรองมาตรฐาน AAALAC และ OECD GLP พร้อมห้อง ABSL-2 และ ABSL-3 ที่เพิ่งผ่านการรับรองในปีนี้ ศูนย์ฯ มีอาคาร 2 หลัง รองรับการให้บริการวิจัยในยา วัคซีน และเครื่องมือแพทย์ รวมถึงบริการเช่าห้องแล็บ พร้อมโมเดลสัตว์ทดลองเฉพาะทาง เช่น โรคเบาหวาน ระบบประสาท และพยาธิวิทยา โดยมีเครือข่ายร่วมมือกับเกาหลี ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และมาเลเซีย พร้อมส่งบุคลากรเข้ารับการฝึกอบรมอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าประเทศไทยยังประสบปัญหาในการผลิตสัตว์ทดลองเฉพาะทางด้วยตนเอง ศูนย์ฯ จึงมีแผนพัฒนาระบบเพาะพันธุ์และผลิตสายพันธุ์สัตว์ทดลองภายในอาคารหลังที่สอง โดยได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งจะเป็นก้าวสำคัญในการลดการพึ่งพาต่างประเทศ ขณะเดียวกัน ศูนย์ยังวางแผนพัฒนา ระบบ Eco-toxicology เพื่อรองรับการวิจัยด้านสิ่งแวดล้อมควบคู่กับการศึกษาด้านสุขภาพ ซึ่งจะเป็นองค์ประกอบสำคัญในการเสริมความแข็งแกร่งของระบบวิจัยของประเทศในภาพรวม
การเสวนาในครั้งนี้ได้ปิดท้ายด้วยข้อเสนอแนะและบทสรุปที่สะท้อนถึงแนวทางการขับเคลื่อนในอนาคตว่า เพื่อเป็นการยกระดับงานวิจัยให้ได้มาตรฐานสากล ศูนย์สัตว์ทดลองจำเป็นต้องดำเนินการภายใต้เกณฑ์มาตรฐานที่เข้มงวด ขณะเดียวกัน หน่วยวิจัยต้องตั้งเป้าหมายอย่างชัดเจนในการดำเนินงาน ควบคู่กับการจัดหาบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ และการสร้างเครือข่ายความร่วมมือ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อเสริมความแข็งแกร่งในการพัฒนาองค์ความรู้และงานวิจัยอย่างยั่งยืนในอนาคต ซึ่งจะทำให้ประเทศสามารถพึ่งพาตนเองทั้งด้านยาและวัคซีนมากขึ้น พร้อมลดการส่งวัคซีนต้นแบบไปทดสอบที่ต่างประเทศ ทั้งนี้ท่านสามารถรับชมการเสวนาย้อนหลังได้ทาง Facebook สำนักการวิจัยแห่งชาติ (https://www.facebook.com/share/v/1FuRCpBiHt/)


ที่มา: สถาบันวัคซีนแห่งชาติ
วันที่ 2 กรกฎาคม 2568