ป่วยไข้เลือดออกเหมือนกัน แต่ป่วยหนักไม่เท่ากัน

ทำไมบางคนอาการไม่หนัก แต่บางคนถึงช็อกหรือเสียชีวิต?
.
🦟 โรคไข้เลือดออกเกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกี (Dengue virus) ซึ่งมียุงลายเป็นพาหะ เชื้อไวรัสนี้มี 4 สายพันธุ์ย่อย (DENV-1 ถึง DENV-4) โดยประเทศไทยมีการระบาดของไวรัสทั้ง 4 สายพันธุ์ หมุนเวียนกันไป แม้จะติดเชื้อไวรัสเดงกีเหมือนกัน แต่ระดับความรุนแรงของไข้เลือดออกไม่เท่ากันได้ในแต่ละคน บางคนเป็นเพียงไข้ธรรมดา แต่บางคนกลับอาการรุนแรงถึงขั้นช็อกและเสียชีวิตได้
.
👉 โดยปัจจัยสำคัญที่ทำให้บางคน “ป่วยเบา” แต่บางคน “ป่วยหนัก” ได้แก่
.
✅ ปัจจัยจากตัวไวรัส
🔹 ลักษณะพันธุกรรมของไวรัสมีผลต่อความหนักเบาของอาการป่วย จากการเก็บข้อมูลพบว่าเชื้อไวรัสสายพันธุ์ที่ 2 (DENV-2) และ สายพันธุ์ที่ 3 (DENV-3) มักเกี่ยวข้องกับอาการรุนแรงมากกว่าสายพันธุ์อื่น
🔹 ปริมาณเชื้อไวรัสในเลือด (viremia) ที่สูงในช่วงแรกสัมพันธ์กับความรุนแรงของโรค
.
✅ ปัจจัยจากร่างกายผู้ป่วย: สามารถพบได้ทุกเพศทุกวัย แต่พบบ่อยในเด็กวัยเรียน และวัยทำงานตอนต้น โดยผู้ที่มีภาวะเสี่ยงต่ออาการรุนแรงหรือภาวะแทรกซ้อน ได้แก่
🔹 อายุ: จากข้อมูลพบว่าเด็กเล็ก และ ผู้สูงอายุ เนื่องจากร่างกายตอบสนองต่อไวรัสได้น้อยหรือรุนแรงกว่าปกติ
🔹 ผู้หญิงมีแนวโน้มแสดงอาการมากกว่าผู้ชา
🔹 ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดัน ไต ตับ หรือภูมิคุ้มกันต่ำ
🔹 หญิงตั้งครรภ์
🔹 ลักษณะทางพันธุกรรมบางชนิด เช่น ยีน HLA, TNF-α อาจเกี่ยวข้องกับการเกิดอาการรุนแรงของโรค
🔹 การเคยติดเชื้อมาก่อนแล้วมีการติดเชื้อซ้ำต่างสายพันธุ์ คือปัจจัยเสี่ยงอันดับต้น ๆ ที่ทำให้เกิดโรครุนแรงได้
.
👉 โรคไข้เลือดออกมีความซับซ้อน ไม่ได้ขึ้นอยู่กับปริมาณเชื้อเพียงอย่างเดียว แต่เกิดจากปฏิสัมพันธ์ระหว่างไวรัส ภูมิคุ้มกัน พันธุกรรม และสุขภาวะของผู้ป่วย ผู้ที่เคยติดเชื้อมาก่อนและมีภูมิคุ้มกันต่อไวรัสเดิม หรือ ลักษณะทางพันธุกรรมบางอย่าง หรือมีโรคประจำตัวบางชนิด จะมีความเสี่ยงสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
.
👉 ปัจจุบัน ยังไม่มียาต้านไวรัสโดยเฉพาะ การรักษาเป็นการรักษาตามอาการและประคับประคอง ซึ่งจะได้ผลดีถ้าได้รับการตรวจวินิจฉัยโรคได้ถูกต้องตั้งแต่ระยะแรก ไม่ควรกินยาไอบูโพรเฟน หรือแอสไพรินเพื่อลดไข้ เนื่องจากยามีฤทธิ์ต้านการแข็งตัวของเลือด ทำให้เกล็ดเลือดทำงานได้น้อยลง ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงของการมีเลือดออกในผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกที่มีภาวะเกล็ดเลือดต่ำ แต่สามารถกินยาพาราเซตามอลเพื่อลดไข้ได้
.
👉 การป้องกันที่ดีที่สุดคือ ป้องกันตัวเองไม่ให้ถูกยุงกัด กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย และอาจพิจารณาฉีดวัคซีนไข้เลือดออกเป็นมาตรการเสริมในการป้องกันการป่วยรุนแรงได้ ✨
หากต้องการรับทราบข้อมุลของวัคซีนเพิ่มเติม สามารถรับชมได้ที่
https://www.youtube.com/watch?v=64WsA9-q3zA
.
📌ติดตามข้อมูลความรู้ด้านวัคซีนได้ที่
💙Facebook page สถาบันวัคซีนแห่งชาติ
.
#สถาบันวัคซีนแห่งชาติ #วัคซีน #วัคซีนไข้เลือดออก