สวช. ร่วมกับมูลนิธิวัคซีนเพื่อประชาชน และหน่วยงานเครือข่าย เปิดเสวนาพิเศษข้อมูลผิดติดไวกว่าโรค : เช็กก่อนคลิก คิดก่อนแชร์

สถาบันวัคซีนแห่งชาติ ร่วมกับมูลนิธิวัคซีนเพื่อประชาน และหน่วยงานเครือข่าย ร่วมจัดแสดงนิทรรศการให้ความรู้ด้านวัคซีนแก่ประชาชนพร้อมเสริมเกราะภูมิคุ้มกันทางดิจิทัลในการเสวนาพิเศษ จากผู้เชี่ยวชาญ ในวงการแพทย์ ตำรวจ สื่อสารมวลชน เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันในการรับมือกับข่าวลวงในโลกออนไลน์ เพื่อให้ประชาชน มีทักษะรู้เท่าทันข่าวปลอม และสามารถเป็นทั้งสื่อ และผู้เสพสื่อที่ดีไปพร้อม ๆ กันได้

.

วันที่ 26 มิถุนายน 2568 ที่ศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์ ชั้น 5 สถาบันวัคซีนแห่งชาติ ร่วมกับ มูลนิธิวัคซีนเพื่อประชาน และหน่วยงานเครือข่าย ร่วมงานจัดงาน Thailand Healthcare 2025 จัดโดยเครือมติชน ทั้งนี้ได้ร่วมจัดแสดงนิทรรศการให้ความรู้ด้านวัคซีนแก่ประชาชน พร้อมจัดการเสวนาพิเศษ หัวข้อ: ข้อมูลผิดติดไวกว่าโรค : เช็กก่อนคลิก คิดก่อนแชร์ โดยมีวิทยากรร่วมบรรยายได้แก่ พ.ต.อ.เนติ วงษ์กุหลาบ รองผู้บังคับการ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) นาวาอากาศโท นพ.อรรถสิทธิ์ ดุลอำนวย แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวชศาสตร์ โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช นพ.ทรงเกียรติ อุดมพรวัฒนะ นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานกุมารเวชกรรม โรงพยาบาลพุทธชินราช (เจ้าของเพจ Facebook: Infectious ง่ายนิดเดียว) คุณพีรพล อนุตรโสตถ์ ผู้จัดการศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) รศ.ดร.วรัชญ์ ครุจิต คณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์  นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ดำเนินรายการโดย คุณสาวิกา กาญจนมาศ ภายในงานมีการเสวนาแลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับปัญหาข่าวปลอมทั้งด้านสุขภาพ และข่าวปลอมด้านวัคซีน เพื่อนำเสนอถึงแนวทางการรับมือและเป็นส่วนหนึ่งของสังคมในการสกัดกั้นข่าวปลอมก่อนแชร์ไปยังผู้อื่นและกระจายต่อไปอย่างไม่สิ้นสุดและวนกลับมาซ้ำๆ 

.

พ.ต.อ.เนติ กล่าวว่า ประชาชนควรสร้างภูมิคุ้มกันให้ตนเอง ด้วยการรู้เท่าทันและแยกแยะข้อมูลจริงเท็จ เพราะหากไม่แชร์ต่อ ข้อมูลเท็จก็จะอยู่ในวงจำกัด พร้อมเตือนว่าอย่าเป็นเหยื่อหรือกลายเป็นผู้ร่วมขบวนการเผยแพร่ข่าวปลอม ทั้งนี้ความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ กรณีนำข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบ ถือเป็นความผิดทางกฎหมาย มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากพบการกระทำความผิดสามารถแจ้งได้ที่ สายด่วน 1111 กด 87

.

ด้าน น.ท.นพ.อรรถสิทธิ์ ระบุว่าข่าวปลอมเป็นภัยคุกคามที่ร้ายกว่าโรคระบาด ซึ่งปัจจุบันแพทย์ก็จะคอยสื่อสารข้อมูลจริง แล้วให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจ ทั้งนี้ในส่วนของข้อมูลการเสียชีวิตที่แชร์ในโลกออนไลน์ส่วนใหญ่มักเป็นข้อมูลบิดเบือน หากประชานต้องการทราบข้อมูลการเสียชีวิตจริง ๆ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งแพทย์ โรงพยาบาล ตลอดจนรัฐบาลจะสื่อสารกับประชาชนโดยตรงเกี่ยวกับข้อมูลนั้น ซึ่งมีความน่าเชื่อถือ และอ้างอิงได้ พร้อมกล่าวย้ำถึงเรื่องวัคซีนว่า วัคซีนเป็นยาเดียวที่เป็นประโยชน์กับตัวท่านเองและสังคมส่วนรวมด้วย เพราะใช้ลดการแพร่ระบาดของโรค เราไม่ได้ประโยชน์เฉพาะตัวเราเอง แต่คนรอบข้างก็ได้รับประโยชน์ด้วย

.

นพ.ทรงเกียรติ ชี้ว่า ข้อมูลผิด ๆ มักแพร่เร็วกว่าโรค ปัจจุบันพบว่าการหวังดีประสงค์ร้ายมีบนโลกออนไลน์ทุกวัน ทั้งนี้ขอแนะนำให้ประชาชนตรวจสอบความน่าเชื่อถือของผู้ให้ข้อมูลก่อนเชื่อหรือแชร์ และควรอ้างอิงจากแหล่งข้อมูลทางการ หรือหน่วยงานทางการแพทย์ที่น่าเชื่อถือ โดยในประเด็นข่าววัคซีนที่มักมีการแชร์ข้อมูลบิดเบือนออกมาเป็นระยะ คุณหมอเน้นย้ำว่าวัคซีนก็เหมือนทหารของร่างกาย ที่ต้องผ่านกระบวนการวิจัย พัฒนา และทดสอบในมนุษย์อย่างเข้มงวดก่อนใช้งาน และหากร่างกายเรามีภูมิคุ้มกัน ก็จะสามารถรับมือกับเชื้อโรคหรือไวรัสได้ดีขึ้น ช่วยผ่อนหนักให้เป็นเบา และลดความรุนแรงของโรคได้
.

ขณะที่ คุณพีรพล กล่าวถึงข้อมูลสุขภาพในอินเทอร์เน็ตว่า สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มหลัก คือ คำแนะนำและคำเตือน ซึ่งมักมีจำนวนมาก ทั้งนี้ข้อมูลที่อ่านแล้วมีลักษณะรุนแรง ส่วนใหญ่มักไม่เป็นความจริง วิธีง่าย ๆ ในการรับมือ คือ ไม่ควรเชื่อทันที เพื่อไม่ตกเป็นเหยื่อของโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะในยุคที่การหลอกลวงบนโลกออนไลน์ทวีความอันตรายและรุนแรงมากขึ้น นอกจากนี้เรื่องสุขภาพถือเป็นข้อมูลที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะอาจนำไปสู่ความสูญเสียทั้งด้านสุขภาพ ชีวิต และทรัพย์สิน ดังนั้นจึงควรตั้งคำถามหรือข้อสงสัยไว้ก่อนเสมอ และตรวจสอบให้แน่ชัดก่อนจะส่งต่อหรือแชร์ข้อมูลออกไป

.

ด้าน นพ.นคร กล่าวถึงเรื่องข้อมูลเท็จเกี่ยวกับวัคซีนว่า อาจสร้างความเข้าใจผิดและทำให้เกิดการลังเลในการฉีดวัคซีน ทั้งที่วัคซีนได้รับการทดสอบและอนุมัติจากหลายประเทศ และมีประโยชน์ต่อการป้องกันโรคร้ายแรง โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้สูงอายุ และเด็กเล็ก พร้อมเตือนว่าการแชร์ข่าวปลอมอาจเข้าข่ายการส่งต่อข้อมูลเท็จด้วยเช่นกัน อยากให้ประชาชนนึกเสมอว่า เมื่อเราแชร์ เราจะเป็นเสมือนหนึ่งเจ้าของข้อมูลนั้นด้วย อาจเข้าข่ายการส่งผ่านข้อมูลที่เป็นเท็จ อยากให้ทุกคนได้ตระหนักถึงเรื่องดังกล่าวด้วย

.

ปิดท้ายด้วย รศ.ดร.วรัชญ์ กล่าวถึงความน่ากังวลของการโฆษณาอาหารเสริมเกินจริงที่มักทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นยา แม้หลักการโฆษณาคือทำอย่างไรก็ได้ให้เชื่อเรามากที่สุด แต่ต้องมีจริยธรรมกำกับ ปัจจุบันพบว่าซึ่งประชาชนถูกหลอก และเสียประโยชน์จำนวนมาก ทั้งเงิน โอกาส และอาจเสียชีวิตด้วย เพราะหากเป็นข้อมูลผิดด้านสุขภาพ ย่อมมีผลกระทบลึกซึ้งกว่าการซื้อของผิดปกติทั่วไป ทั้งยังสะท้อนถึงภาระทางสาธารณสุขที่อาจตามมา

 

 

 

ที่มา: สถาบันวัคซีนแห่งชาติ

วันที่ 30 มิถุนายน 2568