สธ.เตรียมยื่นขึ้นทะเบียนวัคซีนโควิด 19 จากจีนใน 14 ก.พ.นี้

Home   >   ข่าวสาร   >   ข่าวประชาสัมพันธ์   >   สธ.เตรียมยื่นขึ้นทะเบียนวัคซีนโควิด 19 จากจีนใน 14 ก.พ.นี้

👁️ เข้าชม 0

📌สธ.เตรียมยื่นขึ้นทะเบียนวัคซีนโควิด 19 จากจีนใน 14 ก.พ.นี้

กระทรวงสาธารณสุข เผยวัคซีนโควิด 19 จากจีน 2 ล้านโดส มอบองค์การเภสัชกรรมเป็นผู้จัดซื้อและจำหน่าย ขึ้นทะเบียน อย. ภายใน 14 กุมภาพันธ์นี้ ก่อนทยอยฉีดให้บุคลากรทางการแพทย์และกลุ่มเสี่ยงในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด เตรียมเสนอคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติพิจารณากลุ่มเป้าหมายและแผนการฉีดวัคซีนในวันที่ 11 มกราคม 2564

วันนี้ (10 มกราคม 2564) ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และนพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ แถลงข่าวความคืบหน้าวัคซีนโควิด 19 ในประเทศไทย โดย นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า ประเทศไทยมีกระบวนการจัดหาวัคซีนโควิด 19 ผ่านการพิจารณาอย่างรอบคอบทุกขั้นตอน คำนึงถึงเรื่องของคุณภาพและความปลอดภัยเป็นหลัก ผ่านการขึ้นทะเบียนทั้งต่างประเทศและสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ของไทย ก่อนให้บริการประชาชน ส่วนการได้วัคซีนเร่งด่วน 2 ล้านโดสจากซิโนแวค ประเทศจีน เป็นวัคซีนชนิดเชื้อตายแบบดั้งเดิม มีความปลอดภัยสูง หลังฉีดยังไม่พบผลข้างเคียงรุนแรง คาดว่าจะได้รับการขึ้นทะเบียนในประเทศจีนเร็วๆนี้ เพื่อใช้ในกรณีฉุกเฉิน

“รัฐบาลได้สนับสนุนงบประมาณซื้อวัคซีนโควิด 19 จากซิโนแวค กรมควบคุมโรคได้แสดงความต้องการใช้ไปยังองค์การเภสัชกรรมให้ซื้อและเป็นตัวแทนจำหน่าย พร้อมทำเอกสารเพื่อยื่นขึ้นทะเบียน อย.ด้วย เนื่องจากซิโนแวคไม่มีตัวแทนจำหน่ายในประเทศไทย โดยจะขึ้นทะเบียนให้ได้ภายในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2564 ซึ่งคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรมได้เห็นชอบสำรองงบประมาณในการสั่งซื้อไปก่อน 1 พันกว่าล้านบาท” นพ.เกียรติภูมิ กล่าว

ทั้งนี้ ประเทศจีนจะส่งวัคซีนมาถึงไทยภายในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ล็อตแรก 2 แสนโดส เดือนมีนาคมอีก 8 แสนโดส และเมษายนอีก 1 ล้านโดส หลังจากนั้นช่วงเดือนพฤษภาคม จะมีวัคซีนล็อตใหญ่จากแอสตราเซนเนกาอีก 26 ล้านโดส เพื่อกระจายให้ประชาชนต่อไป และเมื่อดำเนินการได้ดีจะเจรจาขอซื้อเพิ่มจากแอสตราเซนเนกาอีก 35 ล้านโดส รวมเป็น 63 ล้านโดส จะครอบคลุมประชาชนประมาณ 30 กว่าล้านคน จะทำให้เกิดภูมิคุ้มกันของประเทศไทยได้ เป็นเป้าหมายและแผนงานที่ดำเนินงานไว้ การดำเนินงานถือว่าก้าวหน้าเป็นไปตามแผน

ด้านนพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า การฉีดวัคซีนเพื่อหยุดการระบาดของโรคในชุมชนไม่จำเป็นต้องฉีดให้ทุกคนมีภูมิคุ้มกันทั้ง 100% หลักการคือฉีดเพื่อให้สังคมและชุมชนมีภูมิคุ้มกันหมู่ขึ้นมาระดับหนึ่ง ประมาณ 60-70% จะลดอำนาจการแพร่กระจายเชื้อลง จนหยุดการแพร่ระบาดในชุมชนได้ แต่ในระดับบุคคลอาจพบผู้ป่วยบ้าง แต่จะไม่เกิดการระบาดในชุมชน ทั้งนี้ วัคซีนโควิด 19 ที่มีการฉีดในต่างประเทศ ยังไม่มีของบริษัทใดที่ทดลองในมนุษย์ระยะที่ 3 อย่างครบถ้วน แต่ที่ประเทศไทยต้องจัดหาวัคซีนเข้ามาก่อนนั้น เนื่องจากหากรอให้มีผลการทดลองครบถ้วนแล้วมาเจรจาจัดซื้ออาจสายเกินไป

อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานจัดหาวัคซีนโควิด 19 ของประเทศไทย จะพิจารณาจากคุณสมบัติของวัคซีน ราคา จำนวนที่จะขายให้ได้ และเวลาที่จะส่งมอบ ซึ่งการซื้ออาจต้องรอวัคซีนส่งมานาน 6 เดือน 8 เดือน หรือเป็นปี ซึ่งไทยได้หาทางเลือกเจรจาวัคซีนหลายชนิด แต่ไม่เกิน 3 ชนิด เพื่อไม่ให้เกิดความซับซ้อนในการขนส่งและการฉีด ซึ่งทั้งหมดผ่านกลไกการพิจารณาอย่างเป็นระบบ รอบคอบ และถี่ถ้วน เพื่อสร้างความมั่นใจแก่ประชาชนผ่านคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ คณะกรรมการขับเคลื่อนการจัดหาวัคซีนเพื่อคนไทย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาพิจารณาเรื่องการตรวจสอบคุณภาพมาตรฐาน และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจสอบก่อนนำมาฉีด

ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า องค์การยูนิเซฟประเมินว่าวัคซีนโควิด 19 ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2564 มีจำกัด ประเทศไทยได้กำหนดเป้าหมายการให้วัคซีน คือ การลดอัตราการป่วยและเสียชีวิต และปกป้องระบบสุขภาพประเทศ ซึ่งกลุ่มเป้าหมายในการรับวัคซีน คือ 1.บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้าทั้งภาครัฐและเอกชน 2.ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง หัวใจและหลอดเลือด โรคไตวายเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง มะเร็ง เบาหวาน 3.ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และ 4.เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมโรคโควิด 19 เช่น อสม. ทหาร ตำรวจ ที่จะต้องคัดกรองผู้ที่เข้ามาจากต่างประเทศ และในพื้นที่ที่มีการระบาด โดยเริ่มในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 5 จังหวัด ได้แก่ สมุทรสาคร ชลบุรี จันทบุรี ระยอง และตราด ฉีดคนละ 2 เข็มห่างกัน 1 เดือน ทั้งนี้ การพิจารณากลุ่มเป้าหมายและแผนการฉีดจะนำเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติในวันที่ 11 มกราคม 2564 หากเห็นชอบจะได้ดำเนินการหรือปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติม เพื่อมั่นใจว่าประชาชนจะได้รับวัคซีนที่มีประสิทธิภาพต่อไป นอกจากนี้ จะพิจารณาเรื่องสถานบริการ บุคลากร และระบบการกระจายวัคซีน รวมทั้งระบบการลงทะเบียนผู้ป่วยต่อไปด้วย

นพ.โอภาสกล่าวว่า สำหรับการกระจายวัคซีนนั้น ประเทศไทยมีระบบคลังวัคซีนใหญ่ 2 แห่ง คือ กรมควบคุมโรค และองค์การเภสัชกรรม ร่วมกันกระจายวัคซีนไปยังพื้นที่ต่างๆ โดยมีระบบควบคุมอุณหภูมิความเย็นอย่างต่อเนื่อง ไปยังโรงพยาบาลศูนย์/ โรงพยาบาลทั่วไป/ โรงพยาบาลชุมชน และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ประมาณ 11,000 แห่ง เพื่อให้ผู้ที่มีเกณฑ์ได้รับวัคซีนเข้ารับบริการใกล้บ้านมากที่สุด ส่วน กทม.จะมีศูนย์บริการสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร โรงพยาบาลรัฐสังกัดอื่นๆ โรงเรียนแพทย์และภาคเอกชน โดยจะมีการอบรมเรื่องการฉีดวัคซีน การเก็บวัคซีน การเตรียมจุดบริการ ระบบการขึ้นทะเบียนโดยใช้แอปพลิเคชันและให้เจ้าหน้าที่ รพ.สต. สำรวจประชาชนกลุ่มเป้าหมาย เพื่อให้บริการได้อย่างครบถ้วน ติดตามให้มารับวัคซีนเข็มที่ 2 ได้อย่างแม่นยำ รวมถึงการติดตามอาการไม่พึงประสงค์ภายหลังรับวัคซีน ซึ่งจะติดตามผู้ได้รับวัคซีนทุกคนเป็นเวลา 4 สัปดาห์ ตามหลักมาตรฐานสากล

ด้าน นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวว่า จากการศึกษาเปรียบเทียบวัคซีนโควิด 19 ที่มีผลการทดสอบประสิทธิภาพในมนุษย์ระยะที่ 3 ซึ่งเป็นขั้นตอนสุดท้ายก่อนการขึ้นทะเบียนนั้น พบว่า วัคซีนของไฟเซอร์ มีประสิทธิผล 95% โดยฉีด 2 โดส ห่างกัน 21 วัน ,วัคซีนของโมเดอร์นา มีประสิทธิผล 94.5% ฉีด 2 โดส ห่างกัน 28 วัน ,วัคซีนของแอสตราเซนเนกา มีประสิทธิผล 62-90% ขึ้นกับปริมาณการฉีด โดยฉีด 2 โดสห่างกัน 28 วัน ,วัคซีนของรัสเซีย มีประสิทธิผล 92% ฉีด 2 โดส ห่างกัน 14-21 วัน ส่วนวัคซีนของซิโนฟาร์ม ประเทศจีน มีประสิทธิผล 79% ฉีด 2 โดส ห่างกัน 21 วัน โดยวัคซีนทั้ง 5 ตัวได้รับการขึ้นทะเบียนในประเทศต้นทางแล้ว นอกจากนี้ ยังมีวัคซีนของซิโนแวค ประเทศจีน มีประสิทธิผล 78% ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข โดยสถาบันวัคซีนแห่งชาติ และกรมควบคุมโรค ร่วมกันศึกษาวัคซีนเหล่านี้มาอย่างต่อเนื่อง จึงมีการพิจารณาจองซื้อและจัดหาแหล่งวัคซีน ซึ่งการจองซื้อกับบริษัทแอสตราเซนเนกา 26 ล้านโดสนั้น มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อผลิตในประเทศไทย โดยใช้ไทยเป็นฐานการผลิต 200 ล้านโดสต่อปี สามารถส่งต่อวัคซีนให้แก่ประเทศเพื่อนบ้านได้ต่อไป

นพ.นครกล่าวว่า ส่วนผลข้างเคียงของวัคซีนแต่ละชนิด อาจมีอาการทั่วไป เช่น ปวดเมื่อย ปวดศีรษะ มีไข้ ปวดบริเวณที่ฉีด ซึ่งยังไม่พบผลข้างเคียงที่รุนแรง ดังนั้นเป็นข้อสังเกตได้ว่าการใช้วัคซีนในช่วงเกิดการระบาดนี้เป็นการใช้ในภาวะเร่งด่วน และได้ทำการศึกษาไปพร้อมกัน ซึ่งหากมีการฉีดวัคซีนจำนวนมาก เช่น 1 ล้านโดส ผลข้างเคียงที่อาจพบได้ยากในรูปแบบอื่นๆ อาจปรากฏขึ้นได้ ดังนั้น วัคซีนทุกตัวต้องเก็บข้อมูลเพื่อดูความปลอดภัยไปพร้อมกัน จะทำให้ทราบข้อมูลและระมัดระวัง เพื่อการหยุดยั้งการระบาดของโรค ลดอัตราป่วย และเสียชีวิต ส่วนการเก็บรักษาวัคซีนมีความแตกต่างกันไปบ้าง เช่น อุณหภูมิ เป็นปัจจัยหนึ่งในการพิจารณาการนำวัคซีนมาใช้ในประเทศไทย

จากหน่วยงาน : กลุ่มภารกิจด้านข่าวและสื่อมวลชนสัมพันธ์ สำนักสารนิเทศ
 วันที่ประกาศข่าว : 10 มกราคม 2564

Leave a Comment