วัคซีน คือ ชีววัตถุหรือแอนติเจนที่ผลิตมาจากเชื้อโรคหรือพิษของเชื้อโรคที่ถูกทำให้ไม่สามารถก่อโรคได้แต่ยังคงกระตุ้นให้ร่างกายสร้างแอนติบอดี้หรือภูมิคุ้มกันได้ โดยเป็นเครื่องมือทางสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันควบคุมโรค
กระทรวงสาธารณสุขกำหนดวัคซีนพื้นฐานที่เด็กไทยทุกคนควรได้รับ ประกอบด้วยวัคซีน 10 ชนิด ได้แก่ วัคซีนวัณโรค (BCG) วัคซีนตับอักเสบบี (HB) วัคซีนรวมคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน-ตับอักเสบบี-ฮิบ (DTP-HB-HIB) วัคซีนโปลิโอ (OPV) วัคซีนรวมหัด-คางทูม-หัดเยอรมัน (MMR) วัคซีนไข้สมองอักเสบเจอี (JE) วัคซีนคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน (DTP) วัคซีนคอตีบ-บาดทะยัก (dT) วัคซีนโรต้า (Rota) และวัคซีนเอชพีวี (HPV) โดยกระทรวงสาธารณสุขจัดระบบบริการเพื่อให้เด็กทุกคนในประเทศได้รับวัคซีนตามกำหนด โดยให้สถานบริการ สาธารณสุขของรัฐเป็นหน่วยบริการหลัก
วัคซีนเสริมหรือวัคซีนทางเลือก คือ วัคซีนที่ไม่ได้กำหนดในแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของกระทรวงสาธารณสุข การเลือกรับวัคซีนเสริมหรือวัคซีนทางเลือกขึ้นกับการพิจารณาส่วนบุคคล เนื่องจากวัคซีนมีราคาค่อนข้างสูง เช่น วัคซีนตับอักเสบเอ (HA) วัคซีนอีสุกอีใส (Varicellla) วัคซีนนิวโมคอคคัสชนิดคอนจูเกต (PVC) วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า (Rabies) วัคซีนไข้กาฬหลังแอ่น (Meningococcal) วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ (Flu)
วัคซีนป้องกันโรคแต่ละโรค ส่วนใหญ่ต้องให้หลายครั้ง กรณีไม่ได้มารับวัคซีนตามนัด ไม่มีความจำเป็นต้องเริ่มต้นใหม่ ไม่ว่าจะนานเท่าใดก็ตาม
เนื่องจากวัคซีนมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคไม่เต็มร้อยเปอร์เซนต์ เด็กที่ได้รับวัคซีนยังมีโอกาสป่วยเป็นโรคได้ แต่โดยทั่วไปในผู้ที่ได้รับวัคซีนแล้วถ้าเป็นโรคอาการมักจะไม่รุนแรง เช่น เด็กที่ได้รับวัคซีนอีสุกอีใส ยังมีโอกาสป่วยเป็นอีสุกอีใสได้ แต่ถ้าเป็นอาการอาจไม่รุนแรง
วัคซีนที่ใช้มีความปลอดภัยสูง แต่ยังพบอาการข้างเคียงหลังการได้รับได้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอาการที่ไม่รุนแรงและยอมรับได้ เช่น ไข้ เจ็บ บวม แดงเฉพาะที่ การเฝ้าสังเกตอาการข้างเคียงของวัคซีนทั้งในระยะสั้นและระยะยาวจึงมีความสำคัญ
1. วัคซีนบางชนิดจำเป็นต้องได้รับมากกว่า 1 ครั้ง เพื่อกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิต้านทานได้สูงและเพียงพอในระดับที่สามารถป้องกันโรคได้ ดังนั้นผู้ปกครองจึงควรพาบุตรหลานไปรับวัคซีนตามกำหนดทุกครั้ง
2. เด็กที่เจ็บป่วยเล็กน้อย เช่น เป็นหวัด ไอ หรือไข้ต่ำๆ สามารถรับวัคซีนได้
3. หลังการได้รับวัคซีนบางชนิด เด็กอาจตัวร้อนเป็นไข้ ซึ่งจะหายได้ในเวลาอันสั้น ให้เช็ดตัว ดื่มน้ำมากๆ และให้ยาลดไข้ ตามคำแนะนำของแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุข
4. ถ้าเคยมีประวัติแพ้ยา หรือเคยมีอาการรุนแรง หลังการได้รับวัคซีน เช่น ชัก ไข้สูงมาก โปรดแจ้งแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ก่อนรับวัคซีนด้วย
5. แผลที่เกิดจากการฉีดวัคซีนป้องกันวัณโรค อาจเป็นฝีขนาดเล็กอยู่ได้นาน 3-4 สัปดาห์ ไม่จำเป็นต้องใส่ยาหรือปิดแผล เพียงใช้สำลีสะอาด ชุบน้ำต้มสุกที่เย็นแล้วเช็ดรอบ ๆ แผล
6. ควรเก็บสมุดบันทึกสุขภาพแม่และเด็กไว้ เพื่อประโยชน์ของบุตรหลานในการติดตามประวัติการได้รับวัคซีน นอกจากนี้ยังสามารถใช้เป็นหลักฐานสำคัญ ในโอกาสต่างๆ เช่น การมอบตัว เข้าเรียนต่อในชั้นประถมศึกษาและการเดินทางไปต่างประเทศ เป็นต้น
- ควรทราบว่า เด็กได้รับวัคซีนอะไร มีโอกาสเกิดอาการข้างเคียงจากวัคซีนนั้นอย่างไรบ้าง เพื่อจะได้สามารถให้การดูแลเด็กได้อย่างถูกต้อง
- ผู้ปกครองควรเฝ้าสังเกตอาการของเด็กในสถานพยาบาลที่ได้รับวัคซีนอย่างน้อย 30 นาที จึงพาเด็กกลับบ้านและควรสังเกตอาการต่อที่บ้านด้วย หากเด็กมีอาการข้างเคียงหลังจากการได้รับวัคซีน เช่น ชัก ไข้สูงมาก ผู้ปกครองควรรายงานให้แพทย์ทราบทุกครั้งก่อนการรับวัคซีนครั้งต่อไป
- หลังฉีดวัคซีนบางชนิดอาจมีไข้ตัวร้อน ควรช่วยเช็ดตัวด้วยผ้าชุบน้ำหมาดๆ โดยเฉพาะบริเวณซอกคอ ข้อพับ และอาจให้ทานยาลดไข้
- บริเวณที่ฉีดวัคซีนอาจมีอาการปวด บวม แดง ร้อน เด็กอาจจะร้องกวน งอแงได้ อาจใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นประคบและทานยาแก้ปวด