ความสำคัญของการผลิตวัคซีนภายในประเทศ
ด้วยเหตุที่วัคซีนมีความสำคัญต่อการสร้างเสริมสุขภาวะของประชาชน และความมั่นคงของประเทศ จึงเป็นการสมควรที่ประเทศจะสร้างหลักประกันว่าจะมีวัคซีนที่จำเป็นในปริมาณเพียงพอที่จะใช้ป้องกันโรคแก่ประชาชนในปัจจุบันและอนาคต โดยอยู่บนพื้นฐานของการพึ่งตนเองด้วยการสร้างความร่วมมืออย่างกว้างขวางของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อการพัฒนาศักยภาพทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมถึงการบริหารจัดการที่เกี่ยวข้องกับวัคซีนของประเทศในระยะยาว หากประเทศไทยสามารถผลิตวัคซีนได้เอง นอกจากจะลดการสูญเสียเงินตราออกนอกประเทศเป็นจำนวนมากในแต่ละปี ยังมีโอกาสส่งออกวัคซีนที่มีศักยภาพการผลิตภายในประเทศ นำรายได้เข้าประเทศได้อีกด้วย คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติเห็นชอบนโยบายและแผนยุทธศาสตร์วัคซีนแห่งชาติ ในปี พ.ศ. 2548
การจัดตั้งสถาบันวัคซีนแห่งชาติ
เพื่อเป็นฐานรองรับการลงทุนและการสนับสนุนของภาครัฐ และการประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในภาครัฐและเอกชนให้บรรลุเป้าประสงค์โดยเร็ว โดยกำหนดให้มีการจัดตั้งหน่วยงานกลางที่มีความสามารถและคล่องตัวเพื่อทำหน้าที่ประสานงานและส่งเสริมความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ อย่างครบวงจร โดยมีพัฒนาการของการจัดตั้ง ดังนี้
โดยที่ปัจจุบันกลไกการบริหารจัดการด้านวัคซีนของประเทศยังขาดความเป็นเอกภาพ ขาดความต่อเนื่องในการบูรณาการนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ด้านวัคซีน สมควรกำหนดให้มีกลไกที่เป็นระบบในการส่งเสริมและสนับสนุนเพื่อให้มีการวิจัย การพัฒนา การผลิต การประกัน การควบคุมคุณภาพ การจัดหา และการกระจายวัคซีนที่เหมาะสมและเพียงพอ จึงได้มีการยกร่างพระราชบัญญัติความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติขึ้นในระหว่างปี 2558-2559 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติฯ ในวันที่ 20 ธันวาคม 2559 และได้รับการประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2561
ต่อมามีการยกร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันวัคซีนแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ขึ้น ระหว่างปี พ.ศ. 2554-2555 โดยคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2555 และได้รับการประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2555
สถาบันวัคซีนแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สวช. และใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า “National Vaccine Institute (Public Organization)” หรือ NVI ทำหน้าที่ในการบริหารจัดการด้านการวิจัยพัฒนาและผลิตวัคซีน เพื่อให้มีเพียงพอที่จะใช้ภายในประเทศไม่ว่าในสถานการณ์ปกติและสถานการณ์ฉุกเฉิน รวมทั้งทำหน้าที่บริหารจัดการและประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องทั้งในประเทศและต่างประเทศ ตลอดจนทำหน้าที่เป็นศูนย์พัฒนาข้อมูลและสร้างองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมด้านวัคซีน รวมทั้งให้บริการทางวิชาการและฝึกอบรมเพื่อการพัฒนาบุคลากรด้านวัคซีนอย่างครบวงจร
เนื่องจากการขับเคลื่อนงานตามนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ฯ มีความสำคัญ และปัจจัยแห่งความสำเร็จในการดำเนินงานด้านวัคซีน คือ การมีหน่วยงานกลางที่สามารถทำหน้าที่สนับสนุน ส่งเสริมการดำเนินงานตามนโยบายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้สำนักงานคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ ซึ่งเป็นหน่วยงานภายในยังมีรูปแบบการบริหารงานที่ไม่คล่องตัว มีข้อจำกัดในเรื่องของบุคลากร ซึ่งงานด้านวัคซีนจำเป็นต้องอาศัยบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านเป็นจำนวนมาก แต่รูปแบบของหน่วยงานลักษณะนี้ ไม่เอื้อต่อการบริหารจัดการบุคลากรและงบประมาณ
คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติจึงมีมติผลักดันให้เกิดสถาบันวัคซีนแห่งชาติภายใต้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ควบคู่กับการจัดตั้งสถาบันที่มีกฎหมายรองรับ เพื่อแก้ไขข้อจำกัดข้างต้น และประเทศจะได้มีหน่วยงานกลางที่มีประสิทธิภาพในการพัฒนางานด้านวัคซีนเพื่อการพึ่งตนเองต่อไป สถาบันวัคซีนแห่งชาติ ภายใต้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี มีผลตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2553
ต่อมาในปี พ.ศ. 2550 กรมควบคุมโรคได้จัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติขึ้นเป็นการภายใน เพื่อรองรับภารกิจตามนโยบายและแผนยุทธศาสตร์วัคซีนแห่งชาติ โดยได้จัดสรรให้มีบุคลากร เพื่อมาปฏิบัติงานในด้านต่าง ๆ มากขึ้น
ในระยะเริ่มต้น คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติมีมติให้จัดตั้งสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ เมื่อ พ.ศ. 2545 เพื่อทำหน้าที่เป็นสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการฯ