12 มิถุนายน 2021

9 มิ.ย. 2564 นักวิจัยจากสถาบัน Jenner มหาวิทยาลัย Oxford ซึ่งเป็นกลุ่มผู้คิดค้นวัคซีนโควิด 19 (AZD 1222) ที่ถูกนำมาผลิตในระดับอุตสาหกรรมโดย บริษัท AstraZeneca

📌9 มิ.ย. 2564 นักวิจัยจากสถาบัน Jenner มหาวิทยาลัย Oxford ซึ่งเป็นกลุ่มผู้คิดค้นวัคซีนโควิด 19 (AZD 1222) ที่ถูกนำมาผลิตในระดับอุตสาหกรรมโดย บริษัท AstraZeneca ได้เผยแพร่ผลงานวิจัยก่อนการตีพิมพ์ (Preprint version) ใน bioRxiv ซึ่งแม้จะยังไม่มีการทบทวนข้อมูลก่อนการเผยแพร่ (Peer review) ในแบบเดียวกับการเผยแพร่ในวารสารวิชาการ (Journal) แต่ก็ถือเป็นแหล่งร่วมสำคัญในการเผยแพร่ผลงานวิจัยของนักวิทยาศาสตร์

งานวิจัยที่ถูกเผยแพร่นี้ เป็นการพัฒนาวัคซีนโควิด 19 รุ่นที่ 2 เพื่อให้สามารถป้องกันโรคจากไวรัสกลายพันธุ์โดยเฉพาะสายพันธุ์ที่น่ากังวล (Variant of Concern, VOC) ได้ดียิ่งขึ้น โดยเทคโนโลยีการผลิตใช้เทคโนโลยีเดิม คือ ใช้ Adenovirus ของลิงชิมแปนซี เป็นตัวพาสารพันธุกรรมกำหนดการสร้างโปรตีน Spike แต่มีการเปลี่ยนรหัสสารพันธุกรรมของ Spike จากไวรัสสายพันธุ์ดั้งเดิมเป็นสายพันธุ์บีตา (B.1.351) ที่พบระบาดครั้งแรกในแอฟริกาใต้แทน โดยวัคซีนรุ่นสอง มีชื่อว่า “AZD2816”

นักวิจัยได้ออกแบบการทดสอบการให้วัคซีนในรูปแบบต่าง ๆ 3 รูปแบบกับหนูทดลอง และได้วัดผลการใช้วัคซีนต่อการสร้างภูมิคุ้มกันต่อ ไวรัสสายพันธุ์ดั้งเดิม สายพันธุ์บีตา และไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์อื่น ๆ ด้วย

การทดสอบแรกเป็นการใช้วัคซีนเพียง 1 โดส โดยฉีดวัคซีน AZD1222 หรือ AZD2816 หรือ วัคซีนผสม (AZD1222+AZD2816) 1 โดส ให้กับหนูทดลอง และมีการวัดระดับภูมิคุ้มกันหลังฉีด 16 วัน ผลพบว่า วัคซีน AZD1222 ชนิดเดียว กระตุ้นการสร้างภูมิต่อไวรัสดั้งเดิมได้ระดับหนึ่ง แต่กระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันต่อไวรัสกลายพันธุ์ได้น้อยมาก ในขณะที่การฉีดวัคซีน AZD2816 เพียงอย่างเดียว สามารถกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันต่อไวรัสดั้งเดิมและสายพันธุ์บีตาได้ระดับหนึ่ง โดยกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันต่อไวรัสกลายพันธุ์อื่น ๆ ได้น้อยมากเช่นกัน ส่วนผลการใช้วัคซีนผสมในเข็มเดียว มีผลไม่ต่างจากการฉีดเฉพาะ AZD2816

การทดสอบแบบที่สองเป็นการฉีดวัคซีน 2 โดส (AZD1222 1 โดส เว้นระยะและตามด้วยการฉีด AZD2816 1 โดส) ผลพบว่า การสร้างภูมิคุ้มกันดีกว่าการฉีดวัคซีนเพียงเข็มเดียวอย่างเห็นได้ชัด และการฉีดวัคซีน AZD2816 เป็นเข็มที่ 2 ช่วยกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันต่อไวรัสสายพันธุ์ดั้งเดิมและสายพันธุ์บีตาในหนูทดลองได้ดี และกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันต่อไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์อื่น ๆ ได้ระดับหนึ่ง ในขณะที่ การฉีดหนูทดลองด้วยวัคซีน AZD1222 ชนิดเดียว จำนวน 2 โดส ช่วยกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันต่อไวรัสดั้งเดิมได้ดี และกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์บีตา และ แคปปา (สายพันธุ์ที่น่าจับตามอง (Variant of interest)) ได้ในระดับหนึ่ง แต่กระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์เดลตาได้น้อยมาก

สำหรับการทดสอบแบบสุดท้ายเป็นการฉีดวัคซีนทั้งหมด 3 โดส (AZD1222 2 โดส ตามด้วยการฉีด AZD2816 1 โดส) ซึ่งอาจใกล้เคียงกับสถานการณ์การใช้จริงมากที่สุด ผลพบว่าวัคซีน AZD2816 สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันต่อไวรัสสายพันธุ์ดั้งเดิมและสายพันธุ์บีตาได้ดี และสามารถกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันข้ามกลุ่ม (cross-reactive antibodies) ต่อไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์อื่น ๆ ได้ในระดับหนึ่งด้วย

ผลการทดสอบในสัตว์ทดลองข้างต้น จะถูกใช้เป็นข้อมูลสนับสนุนการทดสอบในมนุษย์ ซึ่งอาจมีการฉีดวัคซีนรุ่นใหม่นี้ให้กับผู้ที่เคยฉีดวัคซีนรุ่นแรกมาก่อน หรือยังไม่เคยได้รับวัคซีนเลย ต่อไป

เรียบเรียง​โดย: NVI​ Public​ Affairs​ Team
จัดทำวันที่: 12/06/64

ที่มา: https://www.biorxiv.org/content/10.1101/2021.06.08.447308v1