logo_std_white_ai500

นโยบายความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศทางไซเบอร์

หลักการ

สถาบันได้มีข้อกำหนดสำหรับการใช้งาน การดูแลรักษา และการป้องกันให้เหมาะสมกับลักษณะการดำเนินกิจการ ซึ่งการดูแลรักษาและการป้องกันมุ่งหมายไปในทางความมั่นคงปลอดภัย โดยมีหลักการสำคัญคือการธำรงไว้ซึ่ง การรักษาความลับของข้อมูล ความถูกต้องครบถ้วน และความสมบูรณ์พร้อมใช้ ดังนี้

การรักษาความลับ (Confidentiality) หมายถึง การป้องกันไม่ให้สินทรัพย์สามารถถูกเข้าถึงได้จากผู้ไม่มีสิทธิ โดยการเข้าถึงยังรวมถึงการถูกเปิดเผยและการจำแนกแจกจ่ายซึ่งสินทรัพย์นั้นด้วย ดังนั้น ในการรักษาความลับจำเป็นจะต้องมีการควบคุมทั้ง ทางกายภาพและทางเทคนิค โดยผู้ที่ไม่มีสิทธิจะต้องไม่สามารถเข้าถึงสินทรัพย์นั้นได้และสินทรัพย์จำเป็นจะต้องมีการจำแนกและกำหนดระดับความต้องการในการป้องกันไว้อย่างชัดเจน เพื่อให้ผู้ที่ถือครองสินทรัพย์ปฏิบัติได้ถูกต้องเหมาะสมกับระดับความต้องการนั้น

ความถูกต้องครบถ้วน (Integrity) หมายถึง การป้องกันไม่ให้สินทรัพย์ถูกเปลี่ยนแปลงแก้ไขทั้งที่มีเจตนาหรือไม่ก็ตามจากผู้ไม่มีสิทธิที่จะแก้ไขสินทรัพย์เหล่านั้น ดังนั้นการควบคุมและป้องกันจึงต้องประกอบด้วยการกำหนดสิทธิในการแก้ไข กำหนดสิทธิในการเข้าถึง และจำเป็นต้องอาศัยการตรวจสอบทั้งจากการทำรายการบัญชีสินทรัพย์และทางเทคนิคประกอบด้วย

ความสมบูรณ์พร้อมใช้ (Availability) หมายถึง การที่ผู้มีสิทธิสามารถเข้าใช้งานสินทรัพย์นั้นได้เมื่อยามต้องการใช้งาน ซึ่งมีทั้งในทางกายภาพและทางเทคโนโลยี

นโยบายการปฏิบัติ

1. สถาบันจัดให้มีการประเมินความเสี่ยงอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง และทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยการประเมินความเสี่ยงดังกล่าวพิจารณาถึงบริบทภายใน (Internal Context) บริบทภายนอก (External Context) ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย (Interested Party) วิสัยทัศน์ พันธกิจ การเปลี่ยนแปลงของระบบความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ความเสี่ยง มาตรฐานสากล อย่างมีนัยสำคัญ

2. สถาบันมีการกำหนดเกณฑ์ความเสี่ยงที่ยอมรับได้ และความเสี่ยงที่ยอมรับไม่ได้ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการบริหารจัดการความเสี่ยงที่เกิดขึ้นในการประเมินความเสี่ยงที่เกิดขึ้น

3. สถาบันจัดให้มีการทบทวนนโยบายอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง หรือเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ

4. สถาบันมีการกำหนดแผนการรับมือภัยคุกคามทางไซเบอร์ เพื่อรับมือ ตอบสนองต่อเหตุการณ์ที่เกี่ยวกับความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์

5. สถาบันมีการประเมินผลสัมฤทธิ์ของนโยบายที่ประกาศใช้ เพื่อนำมาปรับปรุงนโยบาย แผนกลยุทธ์ให้สอดคล้องกับภัยคุกคามในปัจจุบัน และที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

6. สถาบันจัดให้มีทรัพยากร ด้านงบประมาณ ทรัพยากรบุคคล การบริหารจัดการเทคโนโลยีที่เพียงพอต่อการบริหารจัดการด้านความมั่นคงปลอดภัยของสถาบัน

โครงสร้างทางด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์สำหรับสถาบัน

สถาบันกำหนดมาตรการควบคุม กำกับและติดตามการปฏิบัติหน้าที่ด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์สำหรับส่วนงานต่าง ๆ ภายในสถาบัน และเพื่อเป็นแนวทางการควบคุมอุปกรณ์สารสนเทศและการปฏิบัติงานจากภายนอกให้เป็นไปตามนโยบายความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศทางไซเบอร์ (Information and Cyber Security Policy) 

– การจัดโครงสร้างภายในองค์กร (Internal Organization)

        สถาบันมีกำหนดบทบาทหน้าที่ ความรับผิดชอบในการใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างเหมาะสมและมีความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์

การบริหารจัดการสินทรัพย์

สถาบันมีการระบุสินทรัพย์ที่สำคัญของสถาบันและกำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบในการปกป้องสินทรัพย์จากภัยคุกคาม ช่องโหว่ ผู้บุกรุก การถูกขโมย และสิ่งที่สร้างความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นอย่างเหมาะสม โดยประกอบด้วย

1. นโยบายการบริหารจัดการสินทรัพย์ (Asset Management Policy)

        สถาบันมีการระบุสินทรัพย์ที่สำคัญของสถาบันและกำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบในการปกป้องสินทรัพย์อย่างเหมาะสม

2. นโยบายการจัดชั้นความลับของสารสนเทศ (Information Classification Policy)

        เพื่อให้สารสนเทศได้รับการปกป้องที่เหมาะสม โดยสอดคล้องกับความสำคัญของสารสนเทศนั้น ๆ ที่มีต่อสถาบัน

3. นโยบายการจัดการสื่อที่ใช้ในการบันทึกข้อมูล

        เพื่อป้องกันการเปิดเผย การเปลี่ยนแปลงแก้ไข การลบหรือการทำลายสินทรัพย์สารสนเทศโดยไม่ได้รับอนุญาต

การเข้ารหัสลับข้อมูล

สถาบันมีนโยบายกำหนดแนวทางการเข้ารหัสลับข้อมูลและทำให้ระบบสารสนเทศรักษาไว้ซึ่งความลับของข้อมูล การพิสูจน์ตัวตนของผู้ใช้งานระบบสารสนเทศ และป้องกันการแก้ไขข้อมูลจากผู้ที่ไม่ได้รับอนุญาตอย่างมีประสิทธิภาพและเหมาะสม