9 ธันวาคม 2020

ที่ประชุมอาเซียน-สหภาพยุโรป หนุนการสร้างความมั่นคงด้านวัคซีนในระดับพหุภาคี! (ASEAN-EU Expert Dialogue on Vaccine Security)

สถาบันวัคซีนแห่งชาติ
เผยแพร่โดย Namsom LoveAlice · 9 ธันวาคม 2020 ·
📌ที่ประชุมอาเซียน-สหภาพยุโรป หนุนการสร้างความมั่นคงด้านวัคซีนในระดับพหุภาคี!
(ASEAN-EU Expert Dialogue on Vaccine Security)
.
เมื่อวนอังคารที่ 8 ธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา สำนักงานเลขาธิการอาเซียน ร่วมกับคณะผู้แทนถาวรแห่งสหภาพยุโรป ประจำอาเซียน ได้จัดการประชุมระหว่างอาเซียนและสหภาพยุโรปขึ้น เพื่อแสดงจุดยืนการสร้างความร่วมมือเพื่อความมั่นคงด้านวัคซีนในระดับพหุภาคี โดยเฉพาะในภาวะที่มีการระบาดของโควิด 19 อยู่ทั่วโลก โดยมีผู้แทนระดับสูงในกระทรวงสาธารณสุขของไทย ประกอบด้วยสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กรมควบคุมโรค สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กองการต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข รวมทั้งผู้แทนจากประเทศสมาชิกอาเซียนอีก 9 ประเทศ ผู้แทนสำนักงานเลขาธิการอาเซียน และผู้แทนสำนักงานเลขาธิการสหภาพยุโรป เข้าร่วมการประชุมกว่า 100 คน

นายแพทย์นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ในฐานะผู้แทนแผนงานความมั่นคงและการพึ่งพาตนเองด้านวัคซีนแห่งอาเซียน (ASEAN Vaccine Security and Self-Reliance; AVSSR focal point) ได้นำเสนอความสำเร็จและผลการดำเนินงานสำคัญที่ผ่านมา ตั้งแต่ที่ประเทศไทยสามารถผลักดันให้เกิดปฏิญญาผู้นำอาเซียนว่าด้วยการสร้างความมั่นคงและการพึ่งพาตนเอง เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2562 จนถึงการพัฒนาแผนยุทธศาสตร์ เพื่อการสร้างความมั่นคงและการพึ่งพาตนเองด้านวัคซีนอาเซียน ที่ได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมเจ้าหน้าที่ระดับอาวุโสด้านสุขภาพอาเซียน (Senior Officials Meeting on Health Development; SOMHD) เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา ต่อที่ประชุม โดยชูประเด็นหลักคือการนำแผนยุทธศาสตร์ฯ ฉบับนี้ มาใช้ในสถานการณ์จริงที่กำลังมีการระบาดของโควิด 19 อยู่ในขณะนี้ได้อย่างทันท่วงที

นพ.นคร กล่าวต่อที่ประชุมว่า ถือเป็นโอกาสดีที่อาเซียนมีแผนยุทธศาสตร์ฯที่มีความครอบคลุมการเข้าถึงวัคซีนในทุกมิติ เมื่อเผชิญกับสถานการณ์การระบาดของโควิด 19 จึงสามารถใช้หลักการของยุทธศาสตร์ AVSSR 5 ประการ คือ 1) สนับสนุนให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านวัคซีน การระบาด จำนวนผู้ติดเชื้อ แนวทางการฉีดวัคซีน กลุ่มประชากรเป้าหมาย หรือแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของประเทศ ภายหลังจากการได้รับวัคซีนโควิด 19 เป็นต้น 2) การพัฒนาแนวทางเพื่อการจัดซื้อและสำรองวัคซีนในระดับภูมิภาค ทั้งนี้ จะมุ่งเน้นให้ประเทศสมาชิกอาเซียนที่มีศักยภาพด้านการผลิตและสำรองวัคซีน มาร่วมมือกันจัดทำคลังสำรองวัคซีนในระดับภูมิภาค เพื่อให้ประเทศสมาชิกอาเซียนสามารถเข้าถึงได้ร่วมกัน 3) การยกระดับความร่วมมือเชิงนโยบายจากระดับประเทศเข้าสู่ระดับเวทีโลก 4) การแสวงหาความร่วมมือจากภายนอก อย่างสหภาพยุโร ปเพื่อการพัฒนาศักยภาพพื้นฐานด้านวัคซีนของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในอาเซียน และ 5) การเสนอให้จัดตั้งกลไกการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์ฯ ที่เหมาะสมร่วมกันต่อไป

ทั้งนี้ เป็นเรื่องน่ายินดีที่ผู้แทนจากประเทศสมาชิกอาเซียน และสหภาพยุโรปได้แสดงความชื่นชมความสำเร็จและผลการดำเนินงานของประเทศไทยในด้านการผลักดันให้เกิดนโยบายระดับภูมิภาคอย่าง AVSSR และยังสามารถนำนโยบายของ AVSSR สู่การปฏิบัติเพื่อรองรับสถานการณ์โควิด 19 ได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังร่วมกันแสดงจุดยืนที่จะสนับสนุน และพร้อมให้ความร่วมมือกับประเทศไทยในการผลักดันแผนยุทธศาสตร์ฯ ฉบับนี้ ให้เข้าสู่การปฏิบัติร่วมกันในระดับอาเซียนต่อไป เพราะแผนยุทธศาสตร์ดังกล่าว จะช่วยให้ประชาคมอาเซียน รวมถึงประชาชนไทย สามารถเข้าถึงวัคซีนโควิด 19 และวัคซีนป้องกันการระบาดชนิดอื่นๆ ได้อย่างทั่วถึง เท่าเทียม และทันเวลา นพ.นคร กล่าวทิ้งท้าย

เรียบเรียงข้อมูลโดย: NVI Public Affairs Team
วันที่: 9/12/63