30 August 2024

สถาบันวัคซีนแห่งชาติ ก้าวสู่ปีที่ 12 แห่งการขับเคลื่อนงานด้านวัคซีนของประเทศ

วันที่ 11 สิงหาคม ของทุกปี เป็นวันคล้ายวันสถาปนาของสถาบันวัคซีนแห่งชาติ และในปีนี้ (พ.ศ. 2567) สถาบันวัคซีนแห่งชาติได้มีอายุครบ 12 ปี สถาบันวัคซีนแห่งชาติจัดตั้งขึ้น ด้วยวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งเพื่อรองรับภารกิจสำคัญของประเทศ ในการสนับสนุนงานด้านวัคซีนอย่างครบวงจร ตั้งแต่ระดับต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โดยขับเคลื่อนงานตามยุทธศาสตร์ความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ เพื่อให้ประเทศไทยได้มีวัคซีนใช้อย่างเพียงพอและต่อเนื่องทั้งในภาวะปกติ และในภาวะวิกฤติที่มีการระบาดของโรค

ตลอดระยะเวลา 12 ปีที่ผ่านมา สถาบันวัคซีนแห่งชาติ ได้ดำเนินภารกิจสำคัญของประเทศจนเกิดผลสัมฤทธิ์ และเห็นเป็นที่ประจักษ์แก่สาธารณชนในวงกว้าง ประกอบด้วย งานด้านนโยบาย ที่ดำเนินการภายใต้คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ (National Vaccine committee; NVC) อาทิ การพัฒนากลไกการบรรจุวัคซีนใหม่ในแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค การนำวัคซีนป้องกันโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อฮิบ และวัคซีนโรคอุจาระร่วงโรต้ามาให้บริการในแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของประเทศ บูรณาการการจัดหาและสำรองวัคซีนแบบใหม่ รวมถึงดำเนินการตามแผนเร่งรัดการกำจัดโรคหัดตามพันธะสัญญานานาชาติ ทั้งการเฝ้าระวัง การรณรงค์การใช้วัคซีน การดำเนินการตามแผนรองรับไข้หวัดใหญ่ระบาดใหญ่ ผลักดันการวิจัยพัฒนาไข้สมองอักเสบเจอี และในสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีการระบาดของโรคโควิด 19 ซึ่งเป็นโรคอุบัติใหม่ จึงไม่มีวัคซีนในขณะนั้น การให้ได้มาซึ่งวัคซีนเพื่อตอบโต้สถานการณ์ดังกล่าว สถาบันจึงระดมสรรพกำลังร่วมกับหน่วยในประเทศและต่างประเทศ และได้จัดทำแนวทางการดำเนินงานเพื่อให้คนไทยเข้าถึงวัคซีน (Blue Print) ด้วยกัน 3 แนวทาง คือ การวิจัยพัฒนาในประเทศ การทำความร่วมมือวิจัยกับต่างประเทศ การจัดซื้อ จัดหาวัคซีนนำมาใช้ในประเทศ เพื่อให้คนไทยได้เข้าถึงวัคซีนในเวลาใกล้เคียงกับนานาประเทศ และผ่านพ้นวิกฤติได้อย่างทันท่วงที

งานให้ทุนสนับสนุนการวิจัยพัฒนาวัคซีน ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา สถาบันได้ให้ทุนสนับสนุนการวิจัยพัฒนาวัคซีนครอบคลุมในหลายมิติ ประกอบด้วย ทุนวิจัยและพัฒนาวัคซีน ทุนด้านนโยบาย ทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีโครงสร้างพื้นฐานและระบบสนับสนุนการดำเนินงานด้านวัคซีนอย่างครบวงจร ได้แก่ ศูนย์วิจัยวัคซีนในห้องปฏิบัติการ ศูนย์ทดสอบวัคซีนในสัตว์ทดลอง โรงงานผลิตวัคซีนระดับกึ่งอุตสาหกรรม ศูนย์วิจัยทางคลินิก และหน่วยงานควบคุมกำกับ และทุนพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านวัคซีนแก่สถาบันการศึกษา หน่วยงานวิจัย และผู้ผลิต และในช่วงการระบาดของโรคโควิด 19 ที่ผ่านมา สถาบันได้ให้การสนับสนุนทุนเพื่อรองรับการวิจัยพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 และตอบโต้การระบาดของโรคได้อย่างครอบคลุมและมีประสิทธิผล จำนวนหลายโครงการ และต่อมาสถาบันได้รับการประกาศให้เป็นหน่วยงานให้ทุน หรือ Program Management Unit (PMU) ในระบบวิจัยและนวัตกรรม ตามประกาศสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ซึ่งส่งผลให้สถาบันสามารถให้ทุนสนับสนุนได้ในทุกระดับความพร้อมของเทคโนโลยี ครอบคลุมการพัฒนาวัคซีนแบบครบวงจร โดยมีวัคซีนโควิด 19 จำนวน 1 ชนิด ที่ประสบผลสำเร็จจนได้รับอนุมัติทะเบียนผลิตภัณฑ์จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา คือ วัคซีน HXP-GPOVac ที่พัฒนาโดยองค์การเภสัชกรรม ร่วมมือกับ The Icahn School of Medicine at Mount Sinai , The University of Texas at Austin ทั้งนี้ในระยะต่อไป จะมีการให้ทุนสนับสนุนในการพัฒนาและผลิตวัคซีนทางเลือกในประเทศไทยเพิ่มขึ้น

ภารกิจสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ การสร้างความร่วมมือกับภาคีเครือข่าย ซึ่งไม่เพียงแต่หน่วยงานภายในประเทศเท่านั้น สถาบันยังได้ขยายความร่วมมือในระดับภูมิภาค ไปจนถึงระดับโลกอีกด้วย โดยการเป็นแกนนำหลักในการดำเนินงานด้านการสร้างความมั่นคงและพึ่งตนเองด้านวัคซีนในอาเซียน (ASEAN Vaccine Security and Self-Reliance; AVSSR) ซึ่งได้ผลักดันแนวคิดการยกระดับวัคซีนสู่เวทีสากล ตั้งแต่ปี 2557 มีวัตถุประสงค์ให้เป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน รวมทั้ง การเตรียมตัวรองรับภัยสุขภาพใหม่ในอนาคตผ่านการสร้างเครือข่ายวัคซีนที่เข้มแข็ง ตั้งแต่ระดับต้นน้ำ การสร้างความร่วมมือเพื่อการวิจัยพัฒนาวัคซีน การจัดตั้งคลังสำรองวัคซีน และการจัดซื้อวัคซีนในระดับภูมิภาค สำหรับการดำเนินงานในระดับโลกนั้น ได้ผลักดันความร่วมมือกับผู้ผลิตวัคซีนที่มีศักยภาพสูงเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ ผ่านการรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีในการผลิตวัคซีน เช่น วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกชนิด 9 สายพันธุ์ และตั้งเป้าหมายว่าจะมีการรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีวัคซีนที่มีแนวโน้มประสบความสำเร็จสูงชนิดอื่นเพิ่มในอนาคต

นอกจากนี้ สถาบันยังเป็นศูนย์กลางการบริหารจัดการข้อมูลและความรู้เชิงบูรณาการ เพื่อประกอบการตัดสินใจเชิงนโยบาย เศรษฐกิจ และวิชาการเกี่ยวกับวัคซีน รวมถึงการให้บริการทางวิชาการ ในการพัฒนาข้อมูลองค์ความรู้เทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านวัคซีน โดยได้พัฒนาระบบข้อมูลวัคซีน (Vaccine Information and Management System: VIMS) ซึ่งได้เปิดให้ผู้สนใจลงทะเบียนเข้าใช้งานแล้ว และนอกจากนี้ยังได้มีการเร่งสร้างความรอบรู้สู่ประชาชน เนื่องด้วยสภาวการณ์ของการแพร่ระบาดของข่าวปลอม ข่าวบิดเบือนที่อาจสร้างความกังวลใจ ความลังเลต่อการรับวัคซีน ที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในข้อมูลที่ภาครัฐต้องการสื่อสารสู่ประชาชน ด้วยการสื่อสารข้อมูลด้านวัคซีนให้มีความถูกต้อง ครอบคลุมแก่ประชาชนกลุ่มเป้าหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ กลุ่มผู้สูงอายุ ในระยะต่อไปจะมีการดำเนินงานในหลากหลายรูปแบบมากขึ้น เช่นการถ่ายทอดความรู้เรื่องการป้องกันโรคด้วยวัคซีนในช่วงวัยต่าง ๆ ผ่าน Facebook Live การออกบูธนิทรรศการ เป็นต้น

ในโอกาสก้าวสู่ปีที่ 12 นี้ สถาบันวัคซีนแห่งชาติ ยังคงมุ่งมั่นที่จะต่อยอดความสำเร็จ พัฒนาศักยภาพเครือข่ายวัคซีนในประเทศ เพื่อให้ประเทศไทยมีความมั่นคงด้านวัคซีน รวมทั้งสามารถพึ่งพาตนเองได้ และเตรียมพร้อมรับมือกับโรคระบาดทั้งโรคอุบัติใหม่และอุบัติซ้ำที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต และประเทศสามารถรับมือกับความท้าทายด้านสุขภาพในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อเป้าหมายทางสาธารณสุข คือ การที่ประชาชนมีสุขภาพดี และระบบสุขภาพมีความยั่งยืน

ที่มา: สำนักสื่อสารองค์กรและวิเทศสัมพันธ์ สถาบันวัคซีนแห่งชาติ

วันที่: 30 ส.ค. 67